สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรเป็นสารพิษอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบต่อสุขภาพส่วนมากเกิดจากการใช้หรือสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรหรือใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง ทําให้เกิดความเป็นพิษท้ังแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง นอกจากนี้สารกำจัดศัตรูพืชยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ด้วยปัญหาเหล่านี้จึงเกิดการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยทางการเกษตรจากธรรมชาติ นั่นคือ ปุ๋ยคืนชีพ โดยนักวิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คิดค้นและพัฒนาสูตรให้เหมาะกับพืชแต่ละชนิด
ดร.เทวี มณีรัตน์ สาขาวิชานวัตกรรมการเกษตร วิชาเอกการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า ปุ๋ยคืนชีพ เกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของหน่วยผลิตมวนเพชฌฆาต คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. ที่มีการเลี้ยงแมลง ซึ่งมีมูลแมลงเหลืออยู่มาก จึงทำการทดลองบำรุงพืชที่กำลังอ่อนแอ ผลที่ได้คือ พืชสามารถฟื้นคืนชีพและเจริญเติบโตได้ดีขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ปุ๋ยดังกล่าวได้ผ่านการตรวจวิเคราะห์คุณประโยชน์ มีการเปรียบเทียบจากสารอาหารที่ทำการเลี้ยงรำข้าวสาลีในห้องปฏิบัติการ ปุ๋ยคืนชีพจึงมีคุณสมบัติที่ดีกว่ามูลแมลงที่เลี้ยงตามธรรมชาตินั่นเอง