เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง นวัตกรรมจากนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนสู่อุปกรณ์ผลิตกรดไฮโปคลอรัสสำหรับฆ่าเชื้อโรคแบบใช้ในครัวเรือน KIKOWA@HOME โดยอาศัยน้ำเปล่าสะอาดและเกลือแกงผ่านระบบเทคโนโลยีทางเคมีไฟฟ้าที่ใช้วัสดุผสมระดับนาโนที่มีลักษณะเฉพาะสามารถผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อได้ตลอดเวลา ปลอดภัยปราศจากสารเคมีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.วรากร ลิ่มบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงได้พัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 4 เป็นเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อในครัวเรือน KIKOWA@HOME นวัตกรรมที่นำองค์ความรู้ด้านเคมีไฟฟ้ามาใช้เป็นหลักอาศัยน้ำเปล่าสะอาดและเกลือแกงผ่านระบบเทคโนโลยีทางเคมีไฟฟ้าที่ใช้วัสดุผสมระดับนาโนที่มีลักษณะเฉพาะจนเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่บริเวณผิวหน้าได้ผลิตภัณฑ์เป็นกรดกรดไฮโปคลอรัส ที่มีพีเอชอยู่ในช่วง 5 ถึง 6.5 มีลักษณะเป็นกรดอ่อนและมีค่า Oxidation-Reduction potential สูง จากการวิจัยพบว่าไฮโปคลอรัสมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้แอลกอฮอล์สามารถนำไปเช็ดล้างเพื่อฆ่าเชื้อ ล้างมือ กำจัดเชื้อราในทุกสภาพพื้นผิว ใช้สำหรับบ้วนปากสามารถทำให้แผลภายในช่องปากหายเร็วขึ้น ใช้ทำความสะอาดแปรงสีฟันหรือฟันปลอม ใช้ฆ่าเชื้ออุปกรณ์หรือล้างวัตถุดิบอาหาร การใช้ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยง การใช้สำหรับฆ่าเชื้อการทำความสะอาดเสื้อผ้า เป็นต้น ทั้งนี้เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อในครัวเรือน KIKOWA@HOME สามารถเลือกระดับความเข้มข้นในการผลิตย้ำยาฆ่าเชื้อได้
“การใช้งานเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อในครัวเรือน KIKOWA@HOME เพียงแค่ละลายเกลือกแกงและน้ำเปล่าสะอาดตามปริมาณที่แจ้งในคู่มือการใช้งาน เติมสารละลายดังกล่าวลงไปในถังเครื่องและกดปุ่มเปิดเครื่อง เพียงแค่นี้ก็สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำยาฆ่าเชื้อได้ตามความต้องการ”
ข้อควรระวังการใช้งานเครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อในครัวเรือน KIKOWA@HOME
– ห้ามดื่ม เนื่องจากมีความเข้มข้นสูงและจะส่งผลอันตรายต่อร่างกาย เพราะเป็นน้ำยาใช้สำหรับภายนอก
– ควรอ่านคู่มือการใช้งานอย่างละเอียด เพื่อยืดอายุการใช้งานของเครื่อง และเพื่อประสิทธิภาพของน้ำยาฆ่าเชื้อ
– ควรอ่านคู่มือรายละเอียดการใช้งานของเครื่องแต่ละรุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้ประโยชน์
เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง ผลงานนวัตกรรมจากนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ที่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาเข้าสู่เชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และในอนาคตจะมีการพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ด้านปศุสัตว์ ด้านทันตกรรมและด้านทางการแพทย์ เป็นต้น