ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน หรือโลกของเรานั้น ประกอบไปด้วยพื้นที่ของทะเลและมหาสมุทรมากกว่า 70 % ซึ่งประกอบไปด้วยทรัพยากรต่างๆอย่างมากมาย ซึ่งได้ให้คุณประโยชน์แก่มนุษย์ โดยทรัพยากรต่างๆถูกเรียงร้อยและถักทอเอาไว้ภายใต้ระบบนิเวศทางทะเลที่สลับซ้อน แต่มีความสมดุล การขาดหายไปของทรัพยากรใด ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดผลกระทบขึ้นกับโลกใบนี้ ขณะที่วิทยการ และความรู้ของเรากำลังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แต่เรากลับทิ้งบาดแผลให้แก่โลกใบนี้ จากการกระทำของเราแต่ละคน ซึ่งส่งผลต่อเราผู้อาศัย ดังเช่นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ดังนั้น เราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ จึงควรมีส่วนในการอนุรักษ์ และรักษาทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล ที่โอบล้อมโลกของเรา เพราะหากไม่เริ่มในวันนี้ก็อาจจะสายเกินไป
80% ของขยะทะเลมาจากแผ่นดิน
ขยะที่เห็นอยู่ทุกวันนี้เกิดมนุษย์ทั้งสิ้น ภาพที่เห็นทั่วไปตามชายหาดชายฝั่ง ขยะจำนวนมากถูกคลื่นซัดพัดพาขึ้นมาในยามเช้า และถูกพัดกลับลงไปในทะเล อีกครั้ง ก่อนจะถูกคลื่นซัดพัดกลับขึ้นมากองบนฝั่งอีกครั้ง เป็นวัฏจักรหมุนเวียนไปเช่นนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น และมีแนวโน้มว่าขยะจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในช่วงเวลาที่ชายหาดสวยงามสะอาดตา แต่ภายใต้ท้องทะเลแห่งนั้นมีขยะนานาประเภทล่องลอยอยู่มากเพียงใด และขยะเหล่านั้นมันได้สร้างความเสียหายกับระบบนิเวศวิทยาใต้ท้องทะเลไปมากแค่ไหน
ทะเลได้พัก สัตว์น้ำได้ฟื้นฟู (มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน)
จากการที่กรมประมง ได้ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ฝั่งทะเลอันดามัน ประจำปี 2563 ในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 พบว่าผลของการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างชัดเจน เห็นได้จากหลังการประกาศปิดทะเลอันดามันเพียง 2 เดือนกรมประมงก็ได้รับรายงานว่าบริเวณทะเลกระบี่พบฝูงลูกปลาทูโผล่ขึ้นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของท้องทะเลฝั่งอันดามันได้เป็นอย่างดีและมีแนวโน้มที่จะมีความสมบูรณ์ขึ้น ทั้งยังเหมาะสมสอดคล้องกับข้อมูลการแพร่กระจายของสัตว์น้ำ สามารถคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงได้อย่างยั่งยืน