“บลูคาร์บอน” หรือ คาร์บอนสีน้ำเงิน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้โลกรอดพ้นจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อนได้ โดยใช้ศักยภาพของท้องทะเลเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ผ่านองค์ประกอบหลักของระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง (Marine and Coastal Ecosystem Components) อาทิ ป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็มทำหน้าที่เสมือน “เครื่องฟอกอากาศของโลก” นั่นเอง
คุณปิยะลาภ ตันติประภาส (คุณป้อ) นักวิทยาศาสตร์ สังกัด สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในนักวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่องหญ้าทะเลและ Blue carbon เล่าว่า “ผมเริ่มเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับหญ้าทะเลเนื่องจากทางอาจารย์ อัญชนา ประเทพ (ท่านคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน) เมื่อท่านสำเร็จการศึกษากลับมาจากต่างประเทศ และเริ่มกลับมาสอนได้ราว 2 ปี ท่านได้มาชวนทำวิจัย เพราะท่านพบว่าทรัพยากรหญ้าทะเลที่มีความสำคัญ แต่กลับมีคนศึกษาและทำวิจัยค่อนข้างน้อย ท่านมีความสนใจ เลยชวนผมที่เป็นลูกศิษย์ให้เข้ามาร่วมศึกษานะครับ ซึ่งก็ราว ๆ 15 ปีที่แล้วนะครับ ส่วนเรื่องของการศึกษา Blue Carbon นั้นก็เช่นกันครับ ท่านอาจารย์พบว่าหญ้าทะเลมีศักยภาพ แต่คนในประเทศยังตระหนักในเรื่องนี้มีอยู่น้อย (ในขณะนั้น ก็ราวๆ 10 ปีที่แล้วนะครับ) ท่านเลยเริ่มศึกษา เลยมีโอกาสเข้ามามีส่วนในการศึกษาวิจัยครับ และเมื่อได้ทำการศึกษา แม้จะผ่านมา 15 ปีแต่ก็พบว่าทั้งทรัพยากรหญ้าทะเล และ เรื่อง blue carbon ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และมีเรื่องราวให้ศึกษาอีกมากครับ”
“การลงพื้นที่นั้น ทางผมจะลงพื้นที่กันเป็นทีมในหน่วยวิจัยสาหร่ายทะเลและหญ้าทะเลครับ ครั้งละ 3 – 5 คน ครับและลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง เก็บข้อมูลก็จะใช้เวลาประมาณ 5 – 7 วันครับ โดยเรื่องประทับใจก็มีหลายเรื่องครับ แต่เรื่องที่ประทับใจหลักๆก็น่าจะเป็น การที่รู้สึกภูมิใจ ที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลของทรัพยากรที่มีความสำคัญ แต่มักจะถูกละเลย อย่างทรัพยากรหญ้าทะเลครับ ตอนที่พวกเราเริ่มทำการศึกษานั้น คนยังไม่ค่อยรู้จักครับ และข้อมูลค่อนข้างหายากครับ เพราะไม่ค่อยมีคนศึกษานะครับ เลยดีใจที่ได้สะสมความรู้ดังกล่าวไว้ครับ เพื่อคนที่สนใจหรือจะศึกษาในภายหลังจะได้มีข้อมูล หรือต่อยอดจากสิ่งที่เราได้ทำไว้หรือได้สำรวจไว้ครับ”
สำหรับการศึกษาเรื่อง blue carbon นั้น ตัวอย่างดินในแต่ละชั้นที่เก็บมาได้จะถูกนำมาอบที่อุณหภูมิ 55-60 oC จนตะกอนดินนั้นแห้ง หลังจากนั้นจะมานำตัวอย่างดินมาบดให้ละเอียด แล้วจะส่งไปหาค่าปริมาณคาร์บอนในดิน โดยการส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ด้วยเครื่อง CHN analyzer ที่ศูนย์บริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งผลที่ได้ก็จะทราบปริมาณของคาร์บอน (%) ในตะกอนดิน หลังจากนั้นจะนำมาคำนวณหาปริมาณคาร์บอนที่สะสมในดิน ในแหล่งหญ้าทะเล
คุณป้อ ยังบอกอีกว่า “Blue carbon หรือคาร์บอนสีน้ำเงิน นั้นมีความสำคัญกับโลกของเราเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นแหล่งสำคัญที่ช่วยในการเก็บกักคาร์บอนของโลกใบนี้ เนื่องจากคาร์บอนจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เราสร้างขึ้นในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน และส่งผลต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดโลกรวน แต่การเก็บกักคาร์บอนในทะเล มหาสมุทร และชายฝั่งทะเลจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ โดยการเก็บกักคาร์บอนดังกล่าว จะมีความเสถียรกว่าระบบนิเวศอื่นๆ เช่นเมื่อเปรียบเทียบกับภาคป่าไม้ ที่มีโอกาสปล่อยปล่อยคาร์บอนที่กักเก็บในเนื้อไม้กลับสู่บรรยากาศจากกรณีไฟไหม้ป่า ดังนั้นคาร์บอนสีน้ำเงินจึงมีความสำคัญ และนอกจากนี้ยังมีนิเวศบริการอื่นๆจากทรัพยากรในทะเลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์เรา ที่ยังคงมีเรื่อให้ศึกษาอีกมากมายครับ”
ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน หรือโลกของเรานั้น ประกอบไปด้วยพื้นที่ของทะเลและมหาสมุทรมากกว่า 70 % ซึ่งประกอบไปด้วยทรัพยากรต่างๆอย่างมากมาย ซึ่งได้ให้คุณประโยชน์แก่มนุษย์ โดยทรัพยากรต่างๆถูกเรียงร้อยและถักทอเอาไว้ภายใต้ระบบนิเวศทางทะเลที่สลับซับซ้อน แต่มีความสมดุล การขาดหายไปของทรัพยากรใด ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดผลกระทบขึ้นกับโลกใบนี้ ขณะที่วิทยการ และความรู้ของเรากำลังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แต่เรากลับทิ้งบาดแผลให้แก่โลกใบนี้ จากการกระทำของเราแต่ละคน ซึ่งส่งผลต่อเราผู้อาศัย ดังเช่นปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ดังนั้น เราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ จึงควรมีส่วนในการอนุรักษ์ และรักษาทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเล ที่โอบล้อมโลกของเรา เพราะหากไม่เริ่มในวันนี้ก็อาจจะสายเกินไป
ปิยะลาภ ตันติประภาส นักวิทยาศาสตร์ สังกัด สถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์