พ.ร.บ.จราจรฉบับใหม่ เมาแล้วขับเพิ่มโทษปรับหนัก! ผิดครั้งแรก ขั้นต่ำ 5,000 บาทผิดซ้ำ ขั้นต่ำ 50,000 บาท
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 โดยระบุเหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและการจัดระเบียบการจราจรทางบกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์แก่ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยและสวัสดิภาพของประชาชน
พันตำรวจตรีสิทธิชัย ประดับ สารวัตรจราจร สภ.หาดใหญ่ให้สัมภาษณ์ในรายการและบ้านแลเมือง ชั่วโมงที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ว่า กฎหมายจราจรฉบับใหม่เรื่องเมาไม่ขับ ได้มีการเพิ่มโทษเพิ่มขึ้น 2 กรณี กระทำความผิดครั้งแรก มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000 – 20,000 บาท หากกระทำความผิดซ้ำภายใน 2 ปี โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี เพิ่มอัตราโทษ 50,000 ถึง 100,000 บาท และถูกพักอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ สำหรับ พ.ร.บ. จราจรฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 5 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
ข้อบังคับ พ.ร.บ. จราจรทางบก ข้ออื่นๆ มีดังนี้
มาตรา 35 : รถที่ขับช้ากว่ารถคันอื่นให้ขับรถชิดขอบทางเดินรถฝั่งซ้ายเท่าที่จะทำได้
มาตรา 43 : ไม่ขับขี่รถขณะหย่อนความสามารถในการขับ, ไม่ขับขี่รถขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น, ไม่ขับขี่รถในลักษณะกีดขวางการจราจร, ไม่ขับรถประมาทหรือน่าหวาดเสียว, ไม่ขับรถที่ผิดปกติไปจากการขับรถธรรมดา, ไม่ขับขี่รถคร่อมเลน, ไม่ขับรถบนทางเท้า, ไม่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น และไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ
มาตรา 123 : ในการขับรถยนต์ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่ในรถ ผู้โดยสารที่อายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัย (คาร์ซีท) และผู้โดยสารที่สูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดเข็มขัดไว้กับที่นั่ง
มาตรา 123/1 : หากนั่งรถสองแถว หรือรถบรรทุกขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งเป็นแถว ต้องรัดเข็มนิรภัย แต่หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ ไม่ต้องรัดเข็มขัด
- โดยสารไม่เกินจำนวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดสำหรับรถยนต์แต่ละประเภท และต้องไม่มีการยืนหรือนั่งในลักษณะที่เสี่ยงเกิดอันตราย
- ใช้อัตราความเร็วตามกฎหมายกำหนด และต้องไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
มาตรา 123/2 : ไม่ให้ขับรถยนต์ขณะที่มีผู้โดยสารเบาะหน้าเกิน 2 คน หรือคนนั่งเบาะหน้า (1 คน) ไม่ได้รัดเข็มขัด
มาตรา 123/3 : รถยนต์สาธารณะ หรือมีการขนส่งผู้โดยสาร ต้องมีวิธีการแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารรัดเข็มขัดทุกครั้งก่อนออกรถ
มาตรา 134 : ห้ามมีการแข่งรถบนถนนสาธารณะ หรือรวมกลุ่มกันโดยมีรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป เพื่อแข่งรถ หรือมีการดัดแปลง ปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้อง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร
มาตรา 134/1 : ห้ามชักชวน โฆษณา หรือทำทุกวิธีเพื่อให้มีการจัดการแข่งรถบนถนน หากไม่ได้รับอนุญาต
มาตรา 134/2 : หากนำรถที่มีการดัดแปลงให้มีสภาพไม่ถูกต้อง มาใช้บนถนน จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และหากนำรถที่ดัดแปลงไปแข่งขันแบบไม่ได้รับอนุญาตให้ถือว่า เป็นผู้สนับสนุนการแข่งรถ ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีส่วนรู้เห็น
มาตรา 143 : หากฝ่าฝืนนำรถที่มีการดัดแปลงให้มีลักษณะไม่ถูกต้องไปใช้บนถนนโดยไม่รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการ ดังนี้
หากรถมีสภาพไม่แข็งแรง อาจเกิดอันตราย ให้ตำรวจสั่งห้ามใช้รถ และนำออกจากทางที่มีรถสัญจรโดยเร็วที่สุด หากไม่ทำตาม ให้เจ้าหน้าที่ทำการเคลื่อนย้ายรถได้ หากรถมีสภาพที่ไม่ถึงกับไม่ปลอดภัยในการขับขี่ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สั่งระงับการใช้รถชั่วคราว โดยให้เจ้าของรถนำรถไปปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมายตามเดิม ภายในระยะเวลาที่กำหน ดหรือไม่น้อยกว่า 15 วัน และไม่เกิน 60 วัน
มาตรา 143/1 : ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ติดเครื่องหมายคำสั่งห้ามใช้รถ ไว้บนรถที่ดัดแปลงสภาพจนดูไม่แข็งแรงและอาจเกิดอันตราย และได้รับคำสั่งห้ามใช้รถบนถนน แต่หากเป็นรถที่มีคำสั่งห้าม แต่ยังมีสภาพที่สามารถขับได้ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดคำสั่งห้ามใช้รถบนนถนน ที่ระบุระยะเวลาสิ้นสุดการอนุญาตใช้รถชั่วคราวไว้ด้วย
มาตรา 143/2 : เมื่อมีการสั่งห้ามใช้รถที่มีสภาพดัดแปลงเป็นการชั่วคราวแล้ว ให้แจ้งไปยังนายทะเบียนกรมขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่หากมีการซ่อมแซม ปรับปรุง ตรวจสภาพตามกฎหมายแล้ว ให้นายทะเบียนปลดเครื่องหมายคำสั่งห้ามใช้รถชั่วคราวนั้นได้