ศูนย์แม่ข่ายประสานงานอพ.สธ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดอบรมฝึกปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สนองพระราชดำริ นำความรู้ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และการพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2565) ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์แม่ข่ายประสานงานอพ.สธ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดอบรมฝึกปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน รุ่นที่ 1/2566 หลักสูตร 5 องค์ประกอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวการสนองพระราชดำริ การบริหารและการจัดการ การดำเนินงาน 5 องค์ประกอบ เพื่อนำความรู้สู่การสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และการพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งกระบวนการที่ใช้ในการฝึกอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทำความเข้าใจในกระบวนการ รวมทั้งการสรุปผลและนำเสนอผลการปฏิบัติการ ตลอดจนการนำไปสู่ ความรอบรู้ เชี่ยวชาญ สมดุล สมบูรณ์ และถ่ายทอดได้ ของผู้ปฏิบัติงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

กิจกรรมการฝึกอบรมปฏิบัติการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน (หลักสูตร 5 องค์ประกอบ)  คือแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ  โดยเฉพาะนักเรียน เพราะเยาวชนเหล่านี้ถือเป็นหน่วยสำคัญที่จะช่วยในการรักษาทรัพยากรของประเทศไว้ตามแนวทางการปลูกป่าในใจคน   นอกจากสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนเองแล้ว  ยังอาจขยายผลไปสู่ผู้ปกครองโดยผ่านการบอกเล่าของนักเรียนที่ได้เข้าไปเรียนรู้จากสวนพฤกษศาสตร์ด้วย โดยสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน นับเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่ใกล้ตัวของเยาวชน  ช่วยปลูกฝังให้เยาวชนรู้สึกคุ้นเคยและใกล้ชิดกับธรรมชาติ อีกทั้งทำให้เยาวชนได้รู้จักชื่อต้นไม้ชนิดต่าง ๆ และเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาอื่น ๆได้ เช่น วิทยาศาสตร์  ภาษาอังกฤษ  ภาษาไทย เป็นต้น

ดังนั้นการที่โรงเรียนเห็นความสำคัญและจัดให้มีสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียนจึงถือเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการที่ดี โดยศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. ม.อ. จะช่วยสนับสนุนในการเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างและพัฒนาบุคลากรที่จะไปดำเนินงานสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรด้วยกระบวนการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน อพ.สธ. และเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายระหว่างสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงผู้บริหาร ครู อาจารย์ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม ไปขยายผลสู่ผู้เรียนและผู้ปฎิบัติในโรงเรียน และสถานศึกษา ทำให้ได้รู้จักเครือข่ายครูที่มีเจตนารมณ์เดียวกันซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือช่วยเหลือกันได้ต่อไปในอนาคต

การฝึกอบรมในครั้งนี้ ใช้เวลาทั้งสิ้น จำนวน 4 วัน ระหว่างวันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2566 โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 20 หน่วยงาน มีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 65 คน โดยมี คณะวิทยากรจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (สำนักพระราชวัง) และวิทยากรจากศูนย์แม่ข่ายประสานงานอพ.สธ. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้การอนุเคราะห์มาเป็นวิทยากรหลักและวิทยากรผู้ช่วยในฝึกอบรมปฏิบัติการครั้งนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *