PSUB LAW Podcast : ซื้อขายออนไลน์คือการซื้อขายในตลาดแบบตรง

อาจารย์สุพัทธ์รดา เปล่งแสง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เขียนบทความเรื่อง ซื้อขายออนไลน์คือการซื้อขายในตลาดแบบตรง ผ่าน bangkokbiznews และได้ให้ความรู้เรื่องดังกล่าวผ่านรายการรู้กฎหมายง่ายนิดเดียว ทางคลื่น FM 88 MHz ว่า “หลายคนหันมาหาช่องทางเพิ่มรายได้ด้วยการขายของออนไลน์กันมากขึ้น แม้การแข่งขันจะสูง แต่ก็ถือว่าขายง่าย ลูกค้าเยอะ และเป็นอาชีพที่เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนี้มากที่สุด ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ก็มีมากขึ้นเช่นกัน เช่น ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าล่าช้า หรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่ทำสัญญา ซึ่งผู้บริโภคน้อยรายที่จะทราบว่าการซื้อขายสินค้ารูปแบบดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของ “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545” และ “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560” “

การขายตรง (Direct Selling) คือ วิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการรูปแบบหนึ่งที่ผู้ขายหรือเรียกว่าผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง นำสินค้าไปขายให้กับผู้ซื้อโดยตรงถึงบ้านหรือสถานที่อื่นที่มิใช่ร้านค้าปกติทั่วไป เช่น ธุรกิจขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Amway หรือเครื่องสำอาง Mistine

ส่วนตลาดแบบตรง (Direct Marketing) คือ การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต แอพลิเคชั่น แผ่นพับ เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ดังนั้น การทำตลาดโดยใช้สื่อในการนำเสนอ การขายสินค้าออนไลน์หรือธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) จึงเป็นการขายในตลาดแบบตรง เช่น การขายผ่านเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ

โดยผู้ที่จะทำการตลาดแบบตรงไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มิฉะนั้น จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ โดยขณะนี้ในระบบของ สคบ. มีผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจำนวน 767 ราย

ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนฯ ต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อนำมาใช้ในกรณีเกิดความเสียหายแต่ผู้ประกอบธุรกิจไม่รับผิดชอบใด ๆ สคบ.ก็จะนำเงินหลักประกันส่วนนี้มาชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้บริโภคในเบื้องต้น โดยหลักประกันจะเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคารก็ได้ และผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องจัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้บริโภคด้วย

การคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายนี้คือ ให้สิทธิผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายในเวลา 7 วันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยควรบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรทางอีเมลหรือไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เพื่อให้มีหลักฐานว่าผู้ขายได้รับหนังสือเมื่อใดและให้เลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ส่งคืนสินค้าไปยังผู้ขายหรือเก็บรักษาสินค้าไว้ตามสมควรภายในระยะเวลา 21 วัน นับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญา เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจะต้องคืนเงินเต็มจำนวนให้แก่ผู้บริโภคภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา และหากผู้ประกอบธุรกิจไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในเวลาดังกล่าวก็จะต้องชำระเบี้ยปรับตามที่กฎหมายกำหนด 

สิทธิในการบอกเลิกสัญญาและคืนสินค้าที่ซื้อทางออนไลน์นั้น สอดคล้องกับหลักสากลคือ สิทธิในการเลิกสัญญาเมื่อไม่พึงพอใจในสินค้าหรือบริการ ที่เรียกว่าหลัก Cooling Off Period แต่ผู้ซื้อต้องใช้สิทธิโดยสุจริต และขณะนี้ สคบ. เพิ่งรับฟังความคิดเห็น “ร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นสิทธิผู้บริโภคในการคืนสินค้า (Cooling Off Period)” ในสินค้าบางประเภทซึ่งต้องติดตามต่อไป

Beautiful smart Asian young entrepreneur business woman owner of SME online checking product on stock and save to computer working at home. Small business owner at home office concept.

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไว้หลายประการ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่ทำให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์บางกรณีไม่ต้องจดทะเบียนต่อ สคบ. เป็นผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งเป็นไปตาม “กฎกระทรวง กำหนดการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561” ซึ่งได้แก่ 

  • การขายสินค้าหรือบริการของบุคคลธรรมดา ซึ่งมิได้ทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เกิน 1,800,000 บาท ต่อปี 
  • การขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
  • การขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน
  • การขายสินค้าหรือบริการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐต้องการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจ SMEs ผู้จำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชน เช่น สินค้า OTOP รวมถึงกลุ่มสหกรณ์ต่าง ๆ 

ประเด็นนี้อาจารย์สุพัทธ์รดา เปล่งแสง มีความเห็นว่า แม้กฎกระทรวงดังกล่าวจะมีขึ้นเพื่อสนับสนุนให้การค้าขายโดยผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กรายน้อยไม่ถูกจำกัดหรือเข้มงวดด้วยข้อกฎหมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นการที่รัฐยกเลิกกฎหมายที่กำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคออกไปด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : อาจารย์สุพัทธ์รดา เปล่งแสง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *