สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เตือนโรคฉี่หนูระบาด พบผู้ป่วย 38 ราย เสียชีวิต 2 ราย ภายใน 1 เดือน

นายแพทย์อิฐถผล เอี้ยววงษ์เจริญ นายแพทย์ชำนาญการ ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จ.สงขลา เข้าสู่หน้าฝน และมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่ม เสี่ยงอันตรายจากโรคฉี่หนู ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 9 ตุลาคม พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 142 ราย และเสียชีวิต 4 ราย แต่ภายในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจำนวน 38 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยพื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ อ.สะบ้าย้อย รองลงมาคือ อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ อ.จะนะ อ.เทพา จ.สงขลา โดยมากจะพบในกลุ่มอาชีพรับจ้าง เกษตรกร และวัยเรียน มีอายุระหว่าง 10-14 ปี รองลงมา อายุระหว่าง 55-60 ปี โดยในปีนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคฉี่หนูแล้ว 6 ราย และล่าสุดมีเสียชีวิตไปเมื่อเดือนตุลาคม 2 ราย

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคที่พบระบาดได้ในช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมไหลมารวมกันอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขัง ซึ่งโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อก่อโรคฉี่หนู (pathogenic Leptospires) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข เป็นต้น โดยสัตว์ที่เป็นพาหะอาจไม่แสดงอาการแต่มีการติดเชื้อที่ท่อไตทำให้มีการปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ ซึ่งเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขังตามดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำ  ลำคลอง และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

โดยโรคฉี่หนูสามารถติดเชื้อได้ 2 ทาง คือการสัมผัสเชื้อก่อโรคฉี่หนูจากการสัมผัสสัตว์ ที่เป็นพาหะโดยตรง เช่น ปศุสัตว์ หรือสัตวแพทย์ และทางอ้อมโดยการย่ำน้ำ เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่สัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ดินและน้ำปนเปื้อนเชื้อก่อโรคฉี่หนู เช่น ชาวนา ชาวสวน โดยเฉพาะรายที่ผิวหนังบริเวณที่แช่น้ำมีบาดแผล หรือว่ายน้ำแล้วมีการสำลักน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น แต่ไม่พบแต่ไม่พบการติดต่อจากคนถึงคนโดยตรง โดยระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ได้รับเชื้อจนป่วยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์

ทั้งนี้สำนักงานสาธารณะสุขมีการให้ความรู้กับประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งภาวะน้ำนิ่งจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าน้ำไหล ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำหรือสิ่งแวดล้อมเพราะอาจปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนู เช่น การเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนาน ๆ โดยเฉพาะกรณีซึ่งมีบาดแผลตามร่างกาย หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรให้สวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล และระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบูทที่ใส่ กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรคควรใช้ถุงมือยาง รองเท้าบูท

หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ ถ้าต้องลุยน้ำเป็นเวลานานหรือจำเป็นต้องทำงานในสภาวะดังกล่าวควรสวมใส่เครื่องป้องกัน หากไปแช่หรือย่ำน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วและเช็ดตัวให้แห้ง โดยลักษณะอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการสัมผัสน้ำแก่แพทย์ผู้รักษาให้ทราบด้วย หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นอาจเสียชีวิตได้

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *