รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ศ. ดร.พญ.ทิพวรรณ เลียบสื่อตระกูล รองคณบดีฝ่ายวิจัย และ ศ. ดร.นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย ร่วมพูดคุยและให้ความร่วมมือในการดำเนินงานเกี่ยวกับธนาคารชีวภาพ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน เพื่อเป็นคลังข้อมูลความรู้ทางชีวภาพ ในการศึกษาเชิงลึก หรือพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว แม่นยำ นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
รศ. นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า “ธนาคารชีวภาพ (Human Biobank) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นคลังสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ จัดตั้งขึ้นในปี 2559 ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์วิจัยการแพทย์ปริวรรต กลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ ชั้น 4 อาคารวิจัยรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร เพื่อจัดเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและเลือดเพื่องานวิจัยให้เป็นระบบ ได้มาตรฐานและถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัยสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเชิงลึกทางอณูชีววิทยา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์แพทย์ทางคลินิก และนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงงานวิจัยบูรณาการเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ คลินิก และชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ทางการแพทย์สู่การใช้งานจริงอย่างครบวงจร ผลักดันให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเป็นเลิศด้านต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหายาก (Rare disease) และโรคทางพันธุกรรม (Genetic disorders) เป็นต้น ปัจจุบันมีการจัดเก็บชิ้นเนื้อมะเร็งหลากหลายชนิดในธนาคารชีวภาพมากกว่า 7,000 ตัวอย่าง ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งผิวหนัง และมะเร็งรังไข่ เป็นต้น มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 ราย มีการนำตัวย่างไปใช้เพื่อการวิจัยทางด้านการแพทย์แล้วหลากหลายโครงการ”
ด้าน ศ. ดร.นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย กล่าวว่าในปัจจุบันธนาคารชีวภาพสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทางชีวภาพจากผู้ป่วยได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้สถาบันที่เป็นโรงเรียนแพทย์หลากหลายสถาบันในประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทุกสถาบันมีพันธกิจและวิสัยทัศน์ตรงกันว่าธนาคารชีวภาพเป็นแหล่งชีวทรัพยากรที่สนับสนุนให้เกิดการวิจัยเชิงลึก เป็นคลังข้อมูลความรู้ทางชีวภาพ ที่จะสร้างความเข้าใจต่อโรคต่างๆ อาจนำไปสู่การศึกษาเชิงลึกถึงกลไกของโรค หรือพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม หรือการรักษาผู้ป่วยแบบแม่นยำ (precision medicine)
การสร้างเครือข่ายความร่วมมือธนาคารชีวภาพในประเทศไทยระหว่าง 4 สถาบัน เป็นพันธกิจสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านธนาคารชีวภาพ ยกระดับมาตรฐานธนาคารชีวภาพในประเทศไทย ผลักดันให้ธนาคารชีวภาพในเครือข่ายได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 20387: 2018 Biotechnology-Biobanking-General requirements for biobanking และเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากลในระดับประเทศและนานาชาติ