นักวิจัย ม.อ. ค้นพบ “เอื้องแฝงบริพัตร” กล้วยไม้อาศัยราชนิดใหม่ของโลก

รศ.ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการแลบ้านแลเมือง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า กล้วยไม้เอื้องแฝงบริพัตรชนิดนี้ ได้พบครั้งแรกที่น้ำตกบริพัตร จึงมีการตั้งชื่อว่า “เอื้องแฝงบริพัตร” และเนื่องจากในชื่อสกุลของกล้วยไม้สกุลนี้จะอยู่ในสกุล Aphyllorchis โดย Aphyll = ไม่มีใบ orchis = กล้วยไม้ ซึ่งแปลจากภาษาละตินตรงๆก็คือ กล้วยไม้ที่ไม่มีใบ ทั้งนี้คนไทยที่เป็นกลุ่มนักธรรมชาติวิทยาที่สนใจกล้วยไม้ มักจะเรียกกล้วยไม้สกุลนี้ว่า สกุลเอื้องแฝง และก็ได้พบว่ามันมีอีกชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงใช้ชื่อว่า “เอื้องแฝงบริพัตร” โดยเป็นชนิดที่พบบริเวณน้ำตกบริพัตรครั้งแรก ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ได้พบแค่ที่น้ำตกบริพัตรแต่จะพบได้ในที่อื่นๆอีกด้วย 

ในการค้นพบครั้งแรกตอนนั้นมีโครงการวิจัยที่ได้ไปศึกษาความหลากหลายของกล้วยไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง กับ คุณอมรรัตน์ จันทนาอรพินท์ นักวิจัยสังกัดคณะทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งช่วงที่เราทำงานวิจัยด้วยกันก็ได้พบกล้วยไม้ชนิดนี้ ซึ่งเป็นช่อดอกอ่อนและไม่บาน จึงไม่สามารถระบุชนิดได้ เพราะในปีนั้นมันแล้งและมีช่อดอกขึ้นมาแล้วก็เหี่ยวเปราะไป ซึ่งมันมักจะพบในที่ชื้น ใบไม้ทับถม ค่อนข้างร่ม แต่ปีนั้นอาจจะเป็นเพราะฝนน้อย เมื่อมันโตขึ้นมาแล้วยังไม่ทันบานเต็มที่ก็เปราะไปเสียก่อน

ซึ่งกล้วยไม้ชนิดนี้จะอยู่ในดิน ไม่ใช่กล้วยไม้อิงอาศัยที่ขึ้นตามต้นไม้ทั่วไป แต่ดินก็ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย โดยลักษณะของกล้วยไม้กลุ่มนี้เป็นกล้วยไม้ที่อาศัยรา ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ด้วยการสังเคราะห์แสง เนื่องจากไม่มีคลอโรพลาสต์ ไม่มีใบ สังเคราะห์แสงไม่ได้ จึงต้องอาศัยอยู่ร่วมกับราและใช้ราในการสร้างอาหาร โดยที่ราจะเป็นกลุ่มที่เข้าไปอาศัยอยู่ในรากของกล้วยไม้ ซึ่งนอกจากกล้วยไม้แล้วก็ยังมีพืชกลุ่มอื่นๆอีกด้วยที่ราได้เข้าไปอาศัยอยู่ร่วมกัน

กลไกของการสร้างอาหารด้วยรา จะมีราเข้าไปอาศัยอยู่ในราก อยู่ภายในเซลล์ของราก แล้วก็จะมีการเปลี่ยนแร่ธาตุที่อยู่ในธรรมชาติที่พืชใช้ไม่ได้ เอามาไว้ในรากของกล้วยไม้ ทำให้กล้วยไม้สามารถที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เอาไปเป็นน้ำตาลและพลังงานให้ โดยที่กล้วยไม้ชนิดนี้ไม่ต้องสร้างน้ำตาลเอง ให้ราสร้างให้ดังนั้นกล้วยไม้ก็เป็นเหมือนที่อยู่อาศัยให้กับราเพราะมันจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน

สภาพแวดล้อมก็จะมีความเฉพาะเจาะจงกับระบบนิเวศและชนิดของป่า ซึ่งต้องเป็นป่าระดับต่ำที่ค่อนข้างชื้น ถึงแม้ว่าอากาศภายนอกจะแห้ง แต่ในดินมันก็จะมีความชื้นอยู่ ราจึงอาศัยได้ และช่วงนี้ถ้าไปอาจจะไม่พบกล้วยไม้หรือพืชอาศัยรามีดอกโผล่ดินขึ้นมา แต่มันจะมีส่วนใต้ดินอยู่ อาจเป็นรากหรือหัวสะสมอาหารที่อยู่ใต้ดิน มันก็จะอยู่ร่วมกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้แล้งรุนแรงมากก็ยังอาศัยไปได้เรื่อยๆ แล้วเมื่อมีการสะสมอาหาร ราสร้างอาหารให้มันโตขึ้นเรื่อยๆจนถึงช่วงนึง กล้วยไม้หรือพืชอาศัยราก็จะสร้างดอกขึ้นมาเพื่อมีการขยายพันธุ์ และอาจทิ้งเมล็ดไว้ให้งอกเมื่อเมล็ดไปตกตรงที่จะต้องมีราที่เฉพาะเจาะจงกับมัน จึงทำให้มันโตอยู่ใต้ดิน ดังนั้นในช่วงเวลาที่ไม่ออกดอกเราก็จะไม่รู้เลยว่ามันมีอยู่ตรงนั้น

โดยหลักการทั่วไปเมื่อเราพบเจอพืชชนิดนึง เราก็จะศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาหรือสิ่งที่เห็นโดยละเอียด ซึ่งจะดูรูปร่างหน้าตา โครงสร้างต่างๆ และไปดูว่ากล้วยไม้ชนิดนี้ชื่อว่าอะไร มีการตั้งชื่อไว้แล้วหรือยัง ซึ่งเราจะเริ่มดูจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพืชหรือกล้วยไม้ชนิดนี้ในบริเวณใกล้เคียง อย่างผมทำที่โตนงาช้างก็จะศึกษาเอกสารของกล้วยไม้สกุลเอื้องแฝงในประเทศมาเลเซียและประเทศไทย ซึ่งตอนแรกไม่เจอไม่ตรงกับไทย ก็อาจจะดูไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย ดูเอกสารให้ครอบคลุมแล้วเราจะได้ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จากเอกสารก็มีรายงานที่คล้ายกับชนิดนึง เป็นกล้วยไม้สกุลเอื้องแฝงเหมือนกัน มีรายงานพบอยู่ทางใต้ของมาเลเซีย ใกล้กับสิงคโปร์ โดยกล้วยไม้ชนิดนี้มีรายงานหรือตัวอย่างที่เคยเก็บไว้แค่ครั้งเดียว ซึ่งมีตัวอย่างเก็บรักษาไว้ที่สวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์

ซึ่งตอนนั้นประมาณปี 2017-2018 หลังจากที่ได้ดอกตูมและตามจนพบดอกบาน ก็รู้แล้วว่าหน้าตาของดอกเป็นยังไง ดอกโตเต็มที่เป็นยังไง และได้ไปดูตัวอย่างชนิดใกล้เคียงที่สิงคโปร์ ซึ่งมีลักษณะของกลีบดอกเกือบจะเหมือนกันหมดทุกกลีบ แต่เมื่อไปดูจริงๆปรากฎว่ามันไม่เหมือนกัน จึงกลับมาด้วยความไม่มั่นใจและคิดว่าอาจจะเป็นเพราะความแปรผัน หรือ อากาศแล้ง ที่ทำให้เกิดความผิดปกติก็ได้ เราก็ได้มีการตามดูอยู่เรื่อยๆ ซึ่งไม่มีดอกรูปร่างแบบอื่นเลยในพื้นที่ จะพบแค่ดอกรูปร่างแบบเดียว หลังจากนั้นได้ไปค้นเอกสารเพิ่ม ก็พบว่ามันมีอยู่ชนิดนึงในทวีปออสเตรเลีย เจอที่ฟินเเลนด์ มีลักษณะดอกคล้ายกัน กลีบดอกมีรูปร่างเหมือนกันทั้ง 6 กลีบ แต่ก็มีบางลักษณะและมีเขตการกระจายพันธุ์ที่ต่างกัน

สำหรับชนิดนี้ผมเจอครั้งแรกปี 2015 ประมาณ 8-9ปี กว่าจะมั่นใจว่าใช่ แต่สุดท้ายการที่เราพบสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีชื่อมาก่อน ผมว่าก็เป็นเรื่องปกติ เพราะมันไม่ได้แตกต่างกับพืชชนิดอื่น เพียงแต่ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้มันไม่เคยมีคนพบ หรืออาจจะมีคนพบแล้วเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชนิดอื่น ด้วยความที่ผมได้ไปศึกษาอย่างละเอียดจึงรู้ว่ามันต่างกัน ซึ่งเอื้องแฝงในประเทศไทยที่ค้นพบมาชนิดนี้เป็นชนิดที่ 5 อีก 4 ชนิดจะมีรูปทรงที่ต่างกันกับชนิดอื่นที่เจอในเมืองไทยอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของรูปทรงและขนาดของดอก

ส่วนใหญ่แล้วกล้วยไม้ชนิดนี้และกลุ่มพืชอาศัยรามักจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝน เมื่อต้นฤดูก็จะมีการสะสมอาหาร สร้างอาหารจากเชื้อรามาจนถึงปลายฤดู ซึ่งประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมก็จะเริ่มสมบูรณ์แล้ว ถ้าปีไหนฝนมาเร็วก็อาจจะเริ่มเห็นดอกตั้งแต่เดือนตุลาคม บางปีมาช้าก็จะเป็นเดือนพฤศจิกายน และจะไม่สามารถเห็นดอกได้ในช่วงหน้าแล้ง อีกทั้งกล้วยไม้ชนิดนี้ก็อยู่ในพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ แต่ด้วยช่วงเวลาที่ออกดอกจะเป็นช่วงฤดูฝน มีฝนตกหนัก จึงทำให้นักท่องเที่ยวไม่นิยมไปเที่ยวน้ำตกบริพัตรกัน

ทั้งนี้ในช่วงที่ทำก็จะมีเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์ป่าไปร่วมสำรวจด้วย ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นพืชชนิดใหม่ แต่ด้วยลักษณะของพืชกลุ่มนี้ที่เป็นพืชอาศัยรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหายากและมีโอกาสเจอในธรรมชาติได้น้อย ต่อให้มันเป็นชนิดที่เคยเจอมาแล้วก็ตาม เราได้มีการสื่อสารพูดคุยกันตลอดในเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ อีกทั้งกล้วยไม้ชนิดนี้ไม่สามารถเลี้ยงได้ จึงเป็นผลดีที่จะลดความเสี่ยงจากการถูกนักสะสมกล้วยไม้แอบลักลอบเก็บไป แต่ก็ยังมีความกังวลในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ที่อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะบางครั้งมันก็อาจไปรบกวนแหล่งธรรมชาติและทำลายถิ่นอาศัยในธรรมชาติของพืชบางกลุ่มได้

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *