โอกาสทองผลไม้ใต้ “จำปาดะ” ดูแลง่าย ราคาดี มีอนาคต

งานเกษตรภาคใต้ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.ปีนี้จะมีการจัดเสวนาทิศทางการตลาดและการจัดการสวนจำปาดะอย่างยั่งยืนและการประกวดจำปาดะ 3 ประเภทคือจำปาดะเนื้อสายพันธุ์ดี จำปาดะทอดสายพันธุ์ดี จำปาดะขนุนสายพันธุ์ดี วันที่ 1-2 สิงหาคม 2566 เพื่อหวังผลการรวบรวมจำปาดะสายพันธุ์ดีและต้องการนำเสนอให้เห็นว่าจำปาดะ ผลไม้พื้นเมืองภาคใต้มีโอกาสทางการตลาดและกำลังเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

ผศ.ดร.เจษฎา โสภารัตน์ อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.นักวิจัยที่เก็บรวมรวมสะสมพันธุ์จำปาดะ ตระเวนเยี่ยมสวนและชิมจำปาดะเกือบทั่วภาคใต้เล่าว่า วงการจำปาดะมีจำปาดะเยอะมาก ชื่อสายพันธุ์ดังๆมากมาย เช่น ขวัญสตูล ทองตายงค์ แม่ยุพิน เขาหลัก  หรือถ้าจังหวัดสงขลาก็มีพันธุ์ยวงทองนาทวีหรือพันธุ์ปลัดทอง ่ส่วนจังหวัดพัทลุง มีพันธุ์ทองเลี้ยว ซึ่ง อ.เจษฎา ยกให้เป็นจำปาดะรสชาติอันดับ 1 ในวงการจำปาดะ โดยชื่อสายพันธุ์ล้อตามลักษณะความเด่นหรือชื่อเจ้าของสวน เช่น ทองเลี้ยว ต้นแม่คือคุณยายเลี้ยวอยู่บ้านเขาคราม อ.ศรีนครินทร์ พัทลุง ทองตาปาน เจ้าของสวนชื่อตาปาน เลยเรียกทองตาปาน แต่ถ้ายวงทองนาทวีของสงขลา เรียกชื่อล้อตามอำเภอตามต้นกำเนิด มีบางสายพันธุ์ไม่มีเมล็ด  อำเภอสะบ้าย้อย ไม่ได้ล้อตามเจ้าของหรือตามที่อยู่ แต่จะล้อตามลักษณะของผล  อ.เจษฎาเล่าต่อว่าเท่าที่ติดตามข้อมูลจากเกษตรกรพบว่าการขยายพันธุ์จำปาดะนิยมทำสองแบบคือใช้ต้นตอขนุนและต้นต่อจำปาดะ ถ้าเปรียบเทียบการขยายพันธุ์ทั้งสองแบบพบว่าถ้าใช้ต้นตอจำปาดะจะโตช้ากว่าต้นตอขนุน

จำปาดะแบ่งได้ 3 ประเภทคือจำปาดะพันธุ์เนื้อ ปอกแล้วทานได้เลย เน้นทานสด ไม่จำเป็นต้องเอาไปทอด ลักษณะพันธุ์เนื้อบางพันธุ์จะกัดขาดไม่ก้างคอ  เนื้อเยอะ มีเส้นใยน้อยกว่า ประเภทที่ 2 คือเหมาะสำหรับทอด เนื้ออาจบางกว่ากลุ่มแรกที่เป็นพันธุ์เนื้อแต่ยุมเยอะ ความหนาเนื้อพอประมาณ แม่ค้าจำปาดะทอดชอบ ผลใหญ่ๆยุมเยอๆ เนื้อไม่หนามาก  ประเภทที่ 3 คือลูกผสมระหว่างจำปาดะกับขนุน หรือบางครั้งเรียกจำปาดะขนุน

อ.เจษฎา เป็นผู้หนึ่งที่สนใจจำปาดะโดยการปลูกจำปาดะหลายสายพันธุ์ไว้ในสวนของตัวเอง และยกตัวอย่างพันธุ์จำปาดะเด่นๆของภาคใต้ เช่น สายพันธุ์เด่นสุดของพัทลุงชื่อทองเลี้ยว คุณยายเลี้ยว บ้านเขาคราม อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุงเป็นเจ้าของต้นพันธุ์ อร่อยไม่มีเส้นใย เด่นทั้งกลิ่น รสชาติ รสสัมผัส ทัศนะของอ.เจษฎาคิดว่าจำปาดะทองเลี้ยวเป็นส่วนผสมของทุเรียนกับมะมุด สีออกเหลืองทอง รสชาติอร่อยที่สุด เป็นเบอร์หนึ่งในวงการ แวดวงนักชิมในวงการนิยมจำปาดะสรุปตรงกันว่าอร่อยจริงๆและสำทับอีกว่าคนชอบกินจำปาดะต้องชิมจำปาดะสักครั้งหนึ่งในชีวิต  เก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนก.ค.หรือส.ค. มีต้นแม่ต้นเดียวและขยายต้นที่ออกผลแล้ว ไม่เกิน 30 ต้น รสชาติที่โดดเด่นบวกกับผลผลิตจำกัดทำให้ราคาจำปาดะพันธุ์ทองเลี้ยวสูงถึงกิโลละ 150 บาท อีกสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมคือขวัญสตูล และขวัญสตูลเบอร์ 2 ที่เกิดจากการพัฒนาลักษณะบางอย่างเพิ่มเติมของขวัญสตูลเบอร์ 1 เป็นของดีอำเภอควนโดน จ.สตูล ขวัญสตูล 2 หวานจัดกว่าขวัญสตูล 1 พันธุ์ขวัญสตูล 2 เจ้าของตั้งชื่อว่าสุดสยาม และยังมีพันธุ์ยวงทองนาทวีของดีอำเภอนาทวี เหมาะสำหรับทอด ยุมหนาพอประมาณ จำนวนยุมเยอะ คุ้มค่าที่จะซื้อ ทองตายงค์ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ชนะการประกวดของจังหวัดพังงา 5 ปีเหมาะกับการทอด อีกพันธุ์ที่โดดเด่นของพังงาคือพันธุ์เขาหลัก หรือสายพันธุ์ของภาคใต้พันธุ์อื่น เช่น  ทองยุพิน ทองตาปาน เป็นต้น

ถ้าประเมินโอกาสทางเศรษฐกิจของจำปาดะ อ.เจษฎา มองว่าจำปาดะซึ่งเป็นผลไม้ดูแลง่าย โรคน้อย มีอนาคตมากเพราะผู้บริโภคชาวจีนเริ่มสนใจ โดยชื่อภาษาจีนเรียกจำปาดะว่าหลิวเหลียนมี่ เพราะมีเกษตรกรที่ไต้หวัน นำเข้าไปปลูกแล้วเป็นที่นิยมของเกาะไต้หวันหรือกลุ่มคนจีน เลยตั้งชื่อว่าหลิวเหลียนมี่ หลิวเหลียนคือทุเรียน มี่คือน้ำผึ้ง คือเค้ามองจำปาดะเป็นทุเรียนน้ำผึ้ง เพราะรู้สึกกลิ่นคล้ายทุเรียน แต่ความหวานมากเหมือนน้ำผึ้งเลยเรียกว่าทุเรียนน้ำผึ้ง ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลและลงพื้นที่พบว่าเริ่มมีพ่อค้าชาวจีนเข้ามารวบรวมผลผลิตจำปาดะอย่างเช่นอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่มีการกำหนดคุณลักษณะของจำปาดะว่าต้องมีความยาวผลไม่เกิน 1 ฟุต ผลหนักไม่เกิน 3 กิโล ทรงฟักเขียว ซึ่งอ.เจษฎาระบุว่าพันธุ์ทองเลี้ยวตรงกับความต้องการของชาวจีนมากที่สุด

ปัจจุบันการเพาะปลูกจำปาดะในภาคใต้ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นปลูกแบบผสมผสานหรือสวนสมรม มีจำปาดะ เงาะ ทุเรียน แต่เริ่มมีเกษตรกรรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าคัดเลือกจำปาดะพันธุ์ดีไม่ว่าจะเป็นพันธุ์เนื้อหรือพันธุ์ทอดเพื่อปลูกเป็นสวนจำปาดะอย่างเดียว ซึ่งเป็นเงื่อนไขวงการวิชาการว่าควรจัดการจำปาดะอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้และเป็นสวนจำปาดะยั่งยืน ก็นำไปสู่เรื่องการเสวนาในวันที่ 2 ส.ค.ว่าถ้าต้องการพัฒนาจำปาดะ ต้องไปในทิศทางไหนดี รูปแบบการคิดยังไง รวมทั้งมีการประกวดจำปาดะเพื่อส่งเสริมการปลูกและดูแลจำปาดะคุณภาพดี ถ้าเกษตรกรสนใจเข้าร่วมเสวนาหรือส่งจำปาดะคุณภาพดีเข้าประกวดติดต่อได้คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ.โทร. 074-286045

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *