สงขลา เตรียมยื่น ขอ GI เส้นใยตาลโตนดและผลิตภันฑ์ตาลโตนดคาบสมุทรสทิงพระ

สงขลา เตรียมยื่น ขอ GI เส้นใยตาลโตนดและผลิตภันฑ์ตาลโตนดคาบสมุทรสทิงพระ

ภาคใต้เป็นแหล่งที่มีต้นตาลโตนดมากแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบทางฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดชุมพร เรื่อยมาจนถึงปัตตานี ต้นตาลขึ้นได้ดีตามท้องทุ่งทั่วไป โดยชาวบ้านนิยมปลูกกันตามคันนาเป็นส่วนมาก ในท้องที่บางแห่งมีต้นตาลมากเป็นพิเศษ และกระจายอยู่ทั่วไป เช่น บริเวณอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ด้วยความหนาแน่นของต้นตาล ปรากฏในหลายท้องที่เช่นนี้ทำให้ชาวใต้โดยทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในท้องที่นั้นๆ รู้จักเอาส่วนต่างๆ ของต้นตาลมาใช้ประโยชน์ อย่างกว้างขวาง และสืบต่อกันเรื่อยมาไม่ว่าจะเป็น ลำต้น ผล งวง ใบ ราก เมล็ด ทางตาล และใยตาล จนกลายเป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน ปัจจุบันผู้รู้ทั้งหลาย เรียกว่า “วัฒนธรรมตาลโตนด” หลายลักษณะซึ่งน่าสนใจไม่น้อยในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการใช้ประโยชน์จาก “ใยตาล”  ในลักษณะของ  “หัตถกรรมใยตาล ” เท่านั้น

ใยตาลหรือใยโหนด คือ เส้นใยที่ได้จากโคนทางตาลโตนดตั้งแต่ส่วนที่ทางตาลเริ่มแยกออกเป็น 2 แฉกคล้ายปีกนก ถึงโคนทางซึ่งโอบรัดติดอยู่กับลำต้น ชาวภาคใต้เรียก ทางตาลโตนด ส่วนนี้ว่า “กาบโหนด” และ เนื่องจากลักษณะ ของกาบโหนดแยกถ่างออกคล้าย ขากรรไกร  ชาวบ้านจึงเรียกกาบโหนดแต่ละคู่ของแต่ละทางว่า  “ 1  ขาไตร ”  จะเลือกเอาแต่ทางของตาลต้นหนุ่ม โดยนำเอากาบตาลส่วนดังกล่าวมาทุบแล้วดึง “เส้นใย ” กาบโหนดแต่ละอันจะมีเส้นใย 3 สี คละปนกัน คือ สีขาว น้ำตาล และสีดำ สีเหล่านี้ ต่างกันตามความอ่อนแก่ของเส้นใย มีความเหนียวและทนทานต่างกัน เหมาะที่จะเลือกใช้สอยและประดิษฐ์ลายตามธรรมชาติของสี เรียกเครื่องจักสานที่ทำด้วยใยตาลว่า “หัตถกรรมใยตาล”

คุณสงัด พืชพันธุ์ พัฒนาการจังหวัดสงขลา ให้สัมภาษณ์ในรายการและบ้านแลเมือง ผ่านคลื่นวิทยุ FM 88.00 MHz สถานีวิทยุ ม.อ.หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ว่า ขั้นตอนในการยื่นขอขึ้นทะเบียน GI ใยตาลโตนดและผลิตภัณฑ์จากตาลโตนดจากคาบสมุทรสทิงพระ มีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก โดยจะต้องมีข้อมูลอย่างกว้างขวาง และสินค้าที่ต้องการขึ้นทะเบียนต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดได้ จนทำให้มีรายได้แก่ชุมชน ตัวแปรสำคัญสำหรับสิ่งบ่งบอกข้อมูลของใยตาลโตนด คือ ผลิตภัณฑ์ที่นำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ คุณสงัดฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คณะทำงานได้ประชุมหารือกันสำหรับการรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียน GI ที่สำคัญมีข้อกำหนดว่าการยื่นมี 3 ประเภท  1. ประชาชนทั่วไป 2. รัฐวิสาหกิจชุมชนของใยตาล ทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใยตาล และ 3. จังหวัด เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในชุดหมายปลายทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการยื่นขอขึ้นทะเบียนของใยตาลแล้ว มันยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากลูกตาล ใบตาล อีกด้วย

ขอบคุณภาพจาก : บริษัท เกรทเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด

ขอบคุณข้อมูลจาก : ห้องสมุดประชาชนอำเภอสทิงพระ ห้องสมุดประชาชาชนอำเภอสทิงพระ (nfe.go.th)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *