อุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. ระดมทีมนักวิจัยผลิตงานวิจัยพร้อมใช้ “พัฒนากระบวนการแปรรูปและผลิตภัณฑ์โกโก้”

“โกโก้” ถูกค้นพบตั้งแต่ 1,000 ปี ต้นโกโก้ (Cacao Tree) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Theobroma Cacao โดยนักพฤกษศาสตร์ (botanist) ชาวสวีเดน Carolus Linnaeus เป็นผู้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมา คำว่า Theobroma มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกซึ่งมีความหมายว่า “อาหารของพระเจ้า” (Theos = พระเจ้า และ broma หรือ brosis = อาหาร)  ต้นกำเนิดของต้นโกโก้อยู่บริเวณอเมริกาใต้และอเมริกากลาง เจริญเติบโตในพื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตร  ผลยาวประมาณ 30 เซ็นติเมตร สีออกเหลืองน้ำตาลถึงม่วง มีเมล็ดอยู่ภายในถึง 20-40 เมล็ด  สายพันธุ์โกโก้ แบ่งออกได้เป็น 3 พันธุ์ ใหญ่ ๆ คือ  คริโอลโล่ (Criollo) ฟอราสเทอร์โร (Forastero) และทรีนิตาริโอ (Trinitario) โกโก้เริ่มติดผลหลังจากปลูก 18 เดือน และให้ผลผลิตเต็มที่ปีที่ 5 สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 25-30 ปี ข้อมูลจากสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ระบุว่าปี2562 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกโกโก้ 1378 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือคิดเป็นร้อยละ 43 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 21 ภาคตะวันออก ร้อยละ 15 ภาคใต้ ร้อยละ 12 และภาคกลาง ร้อยละ 6 ปัจจุบันเกษตรกรนิยมปลูกโกโก้มากขึ้นเพราะคาดหวังว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่แต่ยังประสบปัญหาความไม่แน่นอนด้านการตลาด  ในขณะที่ประเทศไทยนำเข้าเมล็ดโกโก้ ปี  2562 ประมาณ 980,202 กิโลกรัม มูลค่า 31,837,947 บาทและมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของร้านเบเกอรี่และเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมอาหาร

ดร.ขวัญหทัย แช่ทอง หัวหน้าโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การเพิ่มคุณภาพการละลายและผลดีต่อสุขภาพของผงโกโก้ หนึ่งในสี่กลุ่มงานวิจัยโกโก้ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ.ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษาวิจัยตั้งแต่กระบวนการหมักเพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้แห้งคุณภาพ จนถึงการวิจัยผลพลอยได้จากผลิตภัณฑ์โกโก้ เช่น บรรจุภัณฑ์จากเปลือกหรือใบโกโก้ เล่าให้ฟังว่ากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์โกโก้มีส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ส่วนที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์เป็นของเหลือทิ้งมูลค่าต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเยื่อหุ้มเมล็ด เปลือกผลโกโก้ ใบโกโก้จากการตัดแต่งกิ่งในสวน เป็นต้น แต่กลุ่มงานวิจัยโกโก้ทั้งหมดของคณะอุตสาหกรรมเกษตร คำนึงถึงความยั่งยืนและการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของโกโก้ให้ได้มากที่สุด ประกอบด้วยกลุ่มงานวิจัยสี่กลุ่มคือ

  • กลุ่มงานวิจัยวัตถุดิบ พัฒนากรรมวิธีการเก็บรักษาเมล็ดโกโก้ พัฒนากระบวนการหมักและการคั่วที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นภาคใต้ โดยผศ.ดพจนารถ  แก่นจันทร์ หัวหน้าโครงการ
  • กลุ่มงานวิจัยการแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การเพิ่มคุณภาพการละลายและผลดีต่อสุขภาพของผงโกโก้ โดย ผศ.ดร.ขวัญหทัย  แช่ทอง หัวหน้าโครงการฯ
  • กลุ่มงานวิจัยผลพลอยได้อาหาร การผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มจากผลพลอยได้ของขั้นตอนการแปรรูปโกโก้ โดย ผศ.ดร.วาสนา สุโยธา หัวหน้าโครงการฯ
  • กลุ่มงานวิจัยผลพลอยได้บรรจุภัณฑ์ โดย ผศ.ดร.พรอุษา จิตพุทธิ หัวหน้าโครงการฯ นักวิจัยลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากสวนโกโก้ กลุ่มแปรรูปและผู้ประกอบการผลิตช็อกโกแลตในจังหวัดสงขลา ซึ่งจริงๆแล้วคณะอุตสาหกรรมเกษตรมีการศึกษาวิจัยเรื่องโกโก้อย่างจริงจัง 30-40 ปีแล้ว แต่เนื่องจากโกโก้ยังไม่เป็นพืชนิยมของเกษตรกร จึงขาดช่วงการพัฒนา แต่ประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมาโกโก้ได้รับความนิยมปลูกมากขึ้น ดร.ขวัญหทัยและคณะวิจัยเก็บข้อมูลจากเกษตรกร กลุ่มแปรรูปและผู้ประกอบการพบปัญหาหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นมีการส่งเสริมปลูกแต่ไม่มีตลาดรองรับ ปริมาณผลผลิตน้อยไม่สามารถส่งโรงงาน คุณภาพเมล็ดแห้งที่ยังไม่ดีนัก การผลิตผลิตภัณฑ์โกโก้คุณภาพต้องควบคุมคุณภาพตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์โกโก้จนถึงการผลิตช็อกโกแลตที่มีคุณภาพ

ดร.ขวัญหทัยขยายความว่า ผลจากการวิจัยโกโก้พบว่าสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆของโกโก้ได้อีกนอกจากเมล็ด เช่น เยื่อหุ้มเมล็ดโกโก้สดเนื้อปุยสีขาว กลิ่นจะหอม มีน้ำตาลตามธรรมชาติและสารสำคัญ สามารถพัฒนาเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ น้ำผึ้งโกโก้โพรไบโอติก ไวน์ ไซเดอร์ หรือกัมมี่เพื่อสุขภาพ และการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์สิ่งเหลือทิ้งจากการแปรรูปโกโก้เป็นช็อกโกแลตซึ่งเป็นสิ่งเหลือทิ้งประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ทีมวิจัยศึกษาการนำไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยจากเปลือกเป็นบรรจุภัณฑ์ กระดาษหรือแม้แต่ใบโกโก้ที่เกิดจากการตัดแต่งต้นโกโก้สามารถพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ด้วย นอกจากนั้นยังวิจัยกระบวนการหมักและตากแห้งให้ได้เมล็ดโกโก้แห้ง เพราะที่ผ่านยังพบปัญหาโกโก้เมล็ดแห้งไม่ได้คุณภาพ รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเมล็ดโกโก้ ไม่ว่าจะโกโก้ผง ช็อกโกแลต หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ดร.ขวัญหทัยย้ำว่าหากเกษตรกร กลุ่มแปรรูป หรือผู้ประกอบการสนใจการพัฒนาโกโก้ติดต่อคณะอุตสาหกรรมเกษตรได้ รวมทั้งหากได้รับการสนับสนุนงบประมาณสามารถดำเนินงานโครงการได้ทันทีเพราะมีงานวิจัยพร้อมใช้อยู่แล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *