เทศกาลเยาวชนสื่อสาร สร้างสรรค์เมือง หรือ Hatyai Scenario Fest เป็นโครงการแสดงผลงานจากเยาวชนจำนวน 6 ทีม ตามเรื่องราวทางวัฒนธรรมของ ‘อาคาร-อาหาร-อาภรณ์-อาชีพ-อายุ’ ในพื้นที่เมืองหาดใหญ่ ผ่านนิทรรศการ การแสดงแสง-สี ดนตรี ศิลปะ กิจกรรมเดินเมือง กิจกรรมวาดภาพเมือง (Urban Sketching) ฉายภาพยนตร์สารคดี กิจกรรมเวิร์กช็อป ซึ่งจะจัดตามหลายพื้นที่ในเมืองหาดใหญ่
แนวคิดเบื้องหลัง ‘Hatyai Scenario Fest’ คือการนำต้นทุนเดิมในพื้นที่หาดใหญ่ มาเล่าเรื่องผ่านการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ด้วยฝีมือทีมเยาวชน ซึ่งผ่านการคอยช่วยเหลือ จัดฝึกอบรม พบปะวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเด็น และให้คำปรึกษาจาก กลุ่ม ‘มานีมานะ’
‘สถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่’ ชวนฟังแนวคิดของ ‘โตมร อภิวันทนากร’ จากกลุ่มมานีมานะ และ ‘แสงรายา กิตติเสถียรพร’ หนึ่งในผู้ประสานงานเยาวชน หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญจนมาเป็น ‘Hatyai Scenario’
“เยาวชนคือปัจจุบัน”
‘โตมร อภิวันทนากร’ เผยแนวคิดก่อนจะมาเป็นโครงการเยาวชนสื่อสา สร้างสรรค์เมือง – ‘Hatyai Scenario Fest’ ว่ามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเยาวชนในหาดใหญ่ด้านการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ตนพบว่าเยาวชนในปัจจุบันมีความสนใจด้านการพัฒนาเมืองและประเด็นสาธารณะรอบตัวมากขึ้น
“เราพบว่าเยาวชนจำนวนไม่น้อย ‘อิน’ กับเรื่องสาธารณะ เรื่องการพัฒนาเมือง ถ้าพูดในภาพรวมคือ การมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง หลายครั้งอาจจะไม่ได้เริ่มจากสภาพปัญหา แต่ตั้งต้นจากจุดแข็ง คุณค่าของเมือง และผนวกรวมกับความสนใจของเยาวชน”
โตมรเผยว่าแนวคิดดังกล่าวนี้มีรากฐานจากความคิด ‘เมืองสำหรับทุกคน’ หรือ ‘inclusive city’ ซึ่งทุกคนรวมถึงเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
“เป้าหมายใหญ่จะเป็นการสร้างเมืองสําหรับทุกคน ในกระบวนการเรามองว่าพลังและบทบาทของเยาวชนเป็นสิ่งสําคัญ เยาวชนไม่ใช่อนาคตของชาติ แต่เยาวชนเป็นพลเมืองที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือคนของวันนี้
“ฉะนั้น เมื่อเป็นคนของวันนี้ เราก็ควรที่จะ เปิดโอกาสเปิดพื้นที่สนับสนุนทรัพยากรภายใต้ความสามารถที่เขามี ลงมือมีบทบาทกับสิ่งที่เขาสนใจต่อบ้านต่อเมืองในฐานะพลเมือง” โตมรขยายความแนวคิดเมืองสำหรับทุกคนที่ควบคู่กับบทบาทของเยาวชน
‘แสงรายา’ เสริมในมุมมองหนึ่งในคณะทำงานซึ่งเคยเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมทีมเยาวชนมาก่อน ตนเผยว่าความรู้สึกอยากส่งเสียงเพื่อพัฒนาเมืองในหมู่เยาวชนนั้น เกิดจากความรู้สึกความเป็นเจ้าของในฐานะผู้อยู่อาศัยที่อยากเห็นการพัฒนาเมืองให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น
“เรารู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่หลายคนมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ (พื้นที่เมือง) และอยากทำให้บ้านเกิดพัฒนาด้วยการสื่อสารประเด็นที่สนใจออกไปให้คนอื่นได้ยิน เพื่อจะนำเสียงของเขาไปพัฒนาเมืองที่เขาอยากอยู่”
นักสื่อสารสร้างสรรค์เมือง
ก่อนจะเป็นรูปธรรมของ ‘Hatyai Scenario Fest’ กลุ่มมานีมานะและทีมงาน ในฐานะกลุ่ม ‘หาดใหญ่เมืองสำหรับทุกคน’ – ‘Hatyai Inclusive City’ เปิดรับสมัครเยาวชน “นักสื่อสารสร้างสรรค์เมือง” ช่วงอายุ 17-23 ปี ทีมละ 3 คนขึ้นไป จำนวน 6 ทีม ในช่วงพฤศจิกายน 2566 จนได้รับคัดเลือก ผ่านการฝึกอบรมและระดมสมอง จนกลายเป็นกิจกรรมในเมืองหาดใหญ่ตลอดเดือนมีนาคม 2567
‘โตมร’ อธิบายคำจำกัดความของ นักสื่อสารสร้างสรรค์เมือง ว่าไม่ได้เป็นเพียงเชิงเทคนิคหรือการใช้เครื่องมือผลิตสื่อ แต่เป็นการเรียนรู้กระบวนการสื่อสาร เนื้อหาสาระ เรียนรู้กระบวนการออกแบบด้วยตนเองผ่านความช่วยเหลืออย่างไม่ตีกรอบจากทีมวิทยากร และเป็นพื้นฐานให้เป็นพื้นที่ลองผิดลองถูก เพื่อต่อยอดในอนาคต
“ถ้าเยาวชนมีเนื้อหาหรือประเด็นที่สนใจ เราจะชวนคิดต่อว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผู้ที่มีส่วนสำคัญ (stakeholders) หรือวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นมาเจอกับเยาวชน และร่วมกันสร้างสรรค์เนื้อหาไปด้วยกัน
“โครงการมีหน้าที่เพียงเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ค้นพบประสบการณ์ใหม่ และค้นหาคําตอบว่า สิ่งที่ได้ลอง ได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝน ได้ลงมือทํา ตอบโจทย์ความฝันตัวเองหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ก็ถือว่าเป็นการได้ทดลองผิดลองถูก ถ้าใช่ และอยากจะพัฒนาต่อ อันนี้ก็เป็นบทบาทเราที่ทำงานเสริมพลังเยาวชนต้องสนับสนุนกันต่อไป”
Hatyai Scenario Fest
Hatyai Scenario Fest เทศกาลเยาวชนสื่อสารสร้างสรรค์เมือง จัดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ตามหัวข้อและประเด็นทางวัฒนธรรมของเมือง ตลอดเดือนมีนาคม 2567 ดังนี้
1-3 มีนาคม 2567 – หัวข้อ ‘อาคาร’’
- Lost in Hatyai หลงรื่นเริงกับสถาปัตยกรรมและเสียงดนตรี ณ ตึกยิบอินซอย สาย 1
- ตึกตัก ย่านสายหนึ่ง ณ ร้านหาดใหญ่ติ่มซำ สาย 1
22-24 มีนาคม 2567 – หัวข้อ ‘อาภรณ์-อายุ’ ณ ชั้น 2 ลี การ์เดนส์ พลาซ่า
- ปาเต๊ะนั่นแลแต่ว่า
- วิจิตรภูษา ต่อใดสวมใส่
- The Generational Harmony of Hatyai
30-31 มีนาคม 256 – หัวข้อ ‘อาหาร-อาชีพ’
- 3 เหลี่ยม 3 มุม วัฒนธรรมอาหารสามเหลี่ยม อัตลักษณ์คนหาดใหญ่ ณ ร้านหาดใหญ่ติ่มซำ สาย 1
- Hatyai Craftsmanship ซ่อม สรรค์ เมือง ณ ร้านหนังสือนายอินทร์ หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ: หาดใหญ่เมืองสำหรับทุกคน – Hatyai Inclusive City
อ่านต่อ
BuddyNews – หาดใหญ่ที่เดียว กินเที่ยวช็อป
Hatyai Street Art ชูอัตลักษณ์เมืองหาดใหญ่ สู่สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
‘LUNATIQUE’ นิทรรศการศิลปะ จินตนาการ ความงดงามยามราตรี และอิทธิพลครอบงำจากดวงจันทร์