คุณธีร์ธวัช ศรีเพ็ชรสัย รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 (สคร. 12) สงขลา ในรายการ ‘แลบ้าน แลเมือง’ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2567 กล่าวถึงสถิติเด็กจมน้ำ ในช่วงปิดเทอมและข้อควรระวังสำหรับผู้ปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 เผยว่าการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งทั่วโลก จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2556-2565 เฉลี่ยปีละ 700 ราย มากกว่าการเสียชีวิตจากโรคติดต่อทั่วไป
สำหรับส่วนงานที่ สคร.12 รับผิดชอบใน 7 จังหวัดภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส จ.สงขลา จ.ตรัง และ จ.พัทลุงนั้น จากการรวบรวมข้อมูลของกองป้องกันและควบคุมโรคระบุว่า ปี พ.ศ. 2565-2567 กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงสุด 3 จังหวัดแรกได้แก่ จ.ปัตตานี (28 ราย) จ.สงขลา (26 ราย) และ จ.นราธิวาส (12 ราย) แบ่งเป็นเฉลี่ย เพศชาย 65% เพศหญิง 35% กลุ่มอายุ 5-9 ปี 41% และ รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 10-14 ปี
จากรายงานปี พ.ศ. 2566 พบว่าสถานที่เกิดเหตุจมน้ำพบมากที่สุดที่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น คลอง แม่น้ำ คูน้ำ รองลงมาเป็น เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ/ฝาย 16% และ ภาชนะภายในบ้าน 5% ทะเล 4% สระว่ายน้ำ/สวนน้ำ 4% และ สถานที่อื่น 6%
เฉพาะเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นช่วงปิดเทอมฤดูฝน จากการเก็บข้อมูลในปี พ.ศ. 2566 มีเหตุการณ์เสียชีวิตจากการจมน้ำในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 66 ราย รองจากอัตราการเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเดือนเมษายน-พฤษภาคม
คุณธีร์ธวัชเผยว่าพฤติกรรมเสี่ยงเหตุจมน้ำได้แก่ การขาดการดูแลจากผู้ปกครองก่อนหรือขณะเกิดเหตุ และรองลงมาคือความรู้ความเข้าใจด้านปัจจัยเสี่ยงเกิดเหตุจมน้ำ พร้อมแจงว่าทาง สคร.12 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ได้แก่
หนึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน หรือหน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทำการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดทำป้ายเตือนและแนวกั้นขอบบ่อให้ชัดเจน
สอง จัดเตรียม เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์พยุงตัวอย่างง่าย เช่น ขวดใส่น้ำ กระป๋องใส่น้ำ เตรียมใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง
สาม สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การหลีกเลี่ยงยืนใกล้ขอบบ่อในช่วงหน้าฝน การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษา มูลนิธิ หรือภาคเอกชนในการอบรมการช่วยเหลือตัวเองจากการจมน้ำ เป็นต้น
คุณธีร์ธวัชเผยว่าภาคส่วนหน่วยงานราชการ มีการดำเนินโครงการ ‘ผู้ก่อการดี (merit maker)’ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ-มูลนิธิ และภาคประชาชนเป็นทีมงานที่ดูแลเรื่องการจมน้ำในพื้นที่ พร้อมเผยว่า การดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2564-2566 ในเขตสุขภาพที่ 12 มีทีมผู้ก่อการดีทั้งหมด 200 ทีม มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ การสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง และทาง สคร. สนับสนุนด้านการทำงานผ่านการบริการวิชาการให้กลุ่มผู้ก่อการดีระดับอำเภอและจังหวัด
ทั้งนี้ สคร.12 สงขลา แนะแนวทางหากพบคนจมน้ำขณะเกิดเหตุ ว่ามี 3 แนวทางสำคัญได้แก่ ‘ตะโกน โยน ยื่น’: ‘ตะโกน’ เรียกให้คนช่วย แจ้งทีมแพทย์-กู้ภัย โทร. 1669 ‘โยน’ อุปกรณ์ใกล้ตัวให้คนจมน้ำจับ ประคองตัวได้ และ ‘ยื่น’ อุปกรณ์ใกล้ตัวให้คนจมน้ำ เช่น ผ้าขาวม้าเพื่อลากเพื่อช่วยเหลือได้
เรื่อง: ทีมข่าวแลบ้าน แลเมือง
ภาพ: แฟ้มภาพ
อ่านต่อ