สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการนำร่องจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ.2568 ในพื้นที่บางอำเภอของ 25 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อทดสอบระบบกรอกแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์ และลดการใช้เจ้าหน้าที่สอบถามรายบุคคล
คุณกอตีเย๊าะ ซีเดะ สถิติจังหวัดสงขลา สำนักงานสถิติจังหวัดสงขลา เผยในรายการ ‘แลบ้าน แลเมือง’ ว่าจังหวัดสงขลาเป็นหนึ่งในพื้นที่ทดลอง ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ ต.พังลา อ.สะเดา และ ต.ชิงโค อ.สิงหนคร ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 – 15 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ก่อนสรุปบทเรียนร่วมกับพื้นที่ทดลองอื่นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567
สถิติจังหวัดสงขลาเผยว่าการทำสำมะโนประชากรและเคหะ มีเป้าหมายเพื่อจัดเก็บข้อมูลประชากรในพื้นที่ตามที่อยู่จริง โดยไม่คำนึงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือไม่ แบบสอบถามจะเก็บข้อมูลพื้นฐาน เช่น ประเภทที่อยู่อาศัย ภาษาพูดในชีวิตประจำวัน จำนวนคนในครัวเรือน รวมถึงเพศสภาพและเพศวิถี (สามารถระบุอัตลักษณ์อื่น เหนือ ชาย-หญิง ได้) เพื่อเป็นฐานข้อมูลภาพรวมสำหรับวางแนวนโยบายของรัฐและท้องถิ่น
พื้นที่ทดลองทำสำมะโนประชากรและเคหะในพ.ศ. 2567 ประกอบด้วย 25 จังหวัด ดังนี้
ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร (แขวงทวีวัฒนา, แขวงดาวคะนอง, แขวงตลิ่งชัน, แขวงคลองตัน)
นนทบุรี (อ.บางใหญ่ ต.บ้านใหม่, อ.ไทรน้อย ต.คลองขวาง)
สุโขทัย (อ.เมืองสุโขทัย ต.บ้านสวน, อ.คีรีมาศ ต.โตนด)
สิงห์บุรี (อ.เมืองสิงห์บุรี ต.ต้นโพธิ์, อ.อินทร์บุรี ต.อินทร์บุรี)
ชัยนาท (อ.เมืองชัยนาท ต.ในเมือง, อ.สรรคบุรี ต.เที่ยงแท้)
สุพรรณบุรี (อ.สองพี่น้อง ต.ทุ่งคอก, อ.สามชุก ต.ย่านยาว)
ภาคใต้
ประจวบคีรีขันธ์ (อ.กุยบุร ต.สามกระทาย, อ.สามร้อยยอด ต.ไร่เก่า)
กระบี่ (อ.อ่าวลึก ต.อ่าวลึกใต้, อ.เหนือคลอง ต.เหนือคลอง)
พังงา (อ.คุระบุรี ต.คุระ, อ.ท้ายเหมือง ต.ท้ายเหมือง)
พัทลุง (อ.เขาชัยสน ต.เขาชัยสน, อ.ป่าบอน ต.ป่าบอน)
สงขลา (อ.สะเดา ต.พังลา, อ.สิงหนคร ต.ชิงโค)
ยะลา (อ.ธารโต ต.แม่หวาด, อ.ยะหา ต.ยะหา)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขอนแก่น (อ.น้ำพอง ต.วังชัย, อ.หนองสองห้อง ต.หนองสองห้อง)
นครราชสีมา (อ.เสิงสาง ต.โนนสมบูรณ์, อ.ประทาย ต.ประทาย)
หนองคาย (อ.เมืองหนองคาย ต.ค่ายบกหวาน, อ.ศรีเชียงใหม่ ต.พานพร้าว)
นครพนม (อ.นาหว้า ต.นาหว้า, อ.โพนสวรรค์ ต.โพนสวรรค์)
ยโสธร (อ.เมืองยโสธร ต.ในเมือง, อ.เลิกนกทา ต.สามแยก)
ภาคเหนือ
กำแพงเพชร (อ.ชาณุวรลักษบุรี ต.ป่าพุทรา, อ.ลานกระบือ ต.ลานกระบือ)
น่าน (อ.เมืองน่าน ต.ผาสิงห์, อ.เชียงกลาง ต.เชียงกลาง)
ลำปาง (อ.เสริมงาม ต.เสริมกลาง, อ.แม่พริก ต.แม่พริก)
ภาคตะวันตก
ตาก (อ.บ้านตาก ต.ตากออก, อ.ท่าสองยาง ต.แม่ต้าน)
กาญจนบุรี (อ.ไทรโยค ต.ลุ่มสุ่ม, อ.ท่ามะกา ต.ตะคร้ำเอน)
ภาคตะวันออก
จันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี ต.หนองบัว, อ.สอยดาว ต.ปะตง)
ปราจีนบุรี (อ.นาดี ต.สำพันตา, อ.ประจันตคาม ต.ประจันตคาม)
ระยอง (อ.เมืองระยอง ต.แกลง, อ.เมืองระยอง ต.กะเฉด)
คุณกอตีเย๊าะเผยว่า การทำสำมะโนประชากรและเคหะจะดำเนินการสำรวจทุก 10 ปี ทั่วประเทศ และมีการสำรวจล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2553 แต่เมื่อครบ 10 ปีใน พ.ศ.2563 ตรงกับช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งต้องใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่อาจคลาดเคลื่อนกับลักษณะการอยู่อาศัยจริงในพื้นที่
รูปแบบการสำรวจสำมะโนประชากร ปี พ.ศ. 2567 ซึ่งจะทดลองระบบเพื่อใช้จริงใน พ.ศ.2568 จะแตกต่างจากการสำรวจครั้งก่อนซึ่งใช้เจ้าหน้าที่ในท้องที่เดินสำรวจและถามคำถามรายบุคคล แต่จะให้ประชาชนกรอกข้อมูลด้วยตัวเองผ่านระบบดิจิตัลซึ่งมีรหัสความปลอดภัยตามแต่ละครัวเรือน และมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวก
คุณกอตีเย๊าะมองว่าแม้การดำเนินวิธีการให้ประชาชนกรอกข้อมูลผ่านระบบดิจิตัลอาจเกิดโอกาสที่ประชาชนไม่ให้ความไว้ใจในการกรอกข้อมูล เพราสถานการณ์มิจฉาชีพในระบบออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น แต่แจงว่าทางสำนักงานสถิติได้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย และมองว่าเป็นการลดการใช้กระดาษหรือวัสดุสิ้นเปลือง และจะมีการสรุปบทเรียนเพื่อพัฒนาระบบและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อเข้าสู่การกรอกข้อมูลเพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไป
เรื่อง: ทีมข่าวแลบ้าน แลเมือง
ภาพหน้าปก: แฟ้มภาพ/ภานิชา ปณัยเวธน์
อ่านต่อ
เข้าใจความต่างคน 4 เจเนอเรชั่น เสริมการทำงานสุดแฮปปี้