ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี: ตากใบหมดอายุความ กระทบความชอบธรรม เสี่ยงเหตุรุนแรงชายแดนใต้

25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันที่ครบอายุความ 20 ปีของ ‘คดีตากใบ’ และจะขาดอายุความหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มารายงานตัวต่อศาล ในที่นี้คือจำเลย-ผู้ต้องหา 14 คน จาก 2 คดีอาญา แบ่งเป็น คดีที่ญาติผู้เสียชีวิตจำนวน 48 ครอบครัว ร่วมกันเป็นโจทย์ฟ้องจำเลย 7 คน และ สอง คดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 8 คน 

จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ไม่มีรายงานว่ามีผู้ต้องหาหรือจำเลยรายงานตัวต่อศาล และมีแนวโน้มสูงที่จะหมดอายุความโดยไม่มีการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของคดีอาญา หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส และมีผลไต่สวนการเสียชีวิตเพราะ “ขาดอากาศหายใจ” 78 คนระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี

‘PSU Broadcast’ พูดคุยกับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการด้านสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ผู้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ถึงมุมมองต่อความรู้สึกประชาชนในพื้นที่และญาติผู้สูญเสีย รวมถึงอนาคตสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ หากคดีความตากใบหมดอายุความ

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี (แฟ้มภาพ)

คดีจบไปแล้ว เหตุใดต้องรื้อฟื้น?

อ.ศรีสมภพ กล่าวถึงที่มาของการ ‘ฟื้นคดี’ จากเหตุการณ์ตากใบนั้นเริ่มต้นจากการทวงถามต่อทนายความมุสลิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในเหตุการณ์รำลึกเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2566 ถึงความคืบหน้าของคดีความ จนเรื่องเข้าสู่คณะกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎรที่มี สส.กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ พรรคประชาชาติ เป็นประธานได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงความคืบหน้าของคดีอาญา จนพบว่าแฟ้มสำนวนคดีถูกซ้อนอยู่ในเอกสารที่สถานีตำรวจ 

จนเป็นที่มาของการฟ้องร้องโดยกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตรวม 48 ครอบครัว เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 และมีการประทับรับฟ้องในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ซึ่งการดำเนินการฟ้องร้องนั้นญาติผู้เสียหายเกรงว่าหากรอกระบวนการคดีอาจขาดอายุความ 20 ปี 

กรณีที่มีการโต้แย้งว่าทางรัฐบาลได้ทำการเยียวยาญาติผู้เสียชีวิตแล้วในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วยกลไกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 รวม 641 ล้านบาท จำนวน 987 ราย ครอบคลุมตั้งแต่เหตุปล้นปืน วันที่ 4 มกราคม 2547

นักวิชาการสันติศึกษากล่าวถึงประเด็นนี้ว่ากรณีฟ้องร้องนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งในทางกฎหมายถือว่ายอมความไม่ได้ และการเยียวยาทางจำนวนเงินเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น

“มีหลักคุ้มครองเจ้าหน้าที่ไม่ถือว่าทำผิดถ้าดำเนินการผิดพลาดทางกฎหมาย (Impunity) เรายังไม่รู้ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร เพียงแต่การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถือเป็นการเยียวยาทางจิตใจว่า ผู้กระทำการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย จะจบลงที่ไหนไม่รู้ ปัจจัยสำคัญคือกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย ดีกว่าปล่อยให้หมดอายุความ” นักวิชาการสันติศึกษากล่าว 

ความรู้สึกประชาชน แนวโน้มความรุนแรงในชายแดนภาคใต้

อ.ศรีสมภพ มองถึง 2 ปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นในบริบทชายแดนภาคใต้ คือ หนึ่ง ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อรัฐบาล รวมถึง ‘รัฐไทย’ ในความเชื่อมั่นต่อความชอบธรรมทางการเมือง สิทธิเสรีภาพ และความยุติธรรมทางกระบวนการทางกฎหมาย 

“สิ่งที่น่ากลัวคือความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อรัฐบาลและ ‘รัฐไทย’ ความชอบธรรมของรัฐจะถูกสั่นคลอน ความพยายามแก้ปัญหาที่ผ่านมาอาจถูกตั้งคำถาม มีคนเปรียบเทียบว่าเหมือนกับ 25 ตุลา ‘47 ย้อนกลับมาเกิดใหม่ แผลเดิมถูกสะกิดและทุบแรงๆ มันจะเจ็บปวดใหม่อีกครั้ง หลังวันที่ 25 รัฐต้องทำงานหนักมาก”

หากเปรียบเทียบจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรง ผู้อำนวยการ Deep South Watch ชี้ว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา เหตุความรุนแรงลดลงอย่างเป็นระบบหลังเกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในนาม ‘ผู้เห็นต่างจากรัฐ’ แต่เหตุความรุนแรงเริ่มขยับขึ้นมาในช่วงปี 2566-2567 นี้ แต่ยังไม่รุนแรงเท่าในช่วง 1-2 ทศวรรษก่อน

สถิติเหตุการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้: Deep South Watch

อ.ศรีสมภพ มองว่าหากอายุความของคดีตากใบหมดลง อาจเกิดความรู้สึกที่รุนแรงต่อองคาพยพของรัฐของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ และทางกลุ่ม BRN อาจใช้เงื่อนไขนี้ก่อเหตุความรุนแรงในเชิงสัญลักษณ์ 

“BRN ไม่พูดถึงกระบวนการตากใบเลยในช่วงแรก แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ (การรื้อฟื้นคดี) เขาก็เฝ้าดู และอาจใช้เงื่อนไขนี้ก่อเหตุความรุนแรงเพื่อตอบสนองความรู้สึกของประชาชน” 

ค้นหาความจริงอีกครั้ง 

แม้ข้อเสนอเฉพาะหน้าต่อการแก้ไขปัญหาปมคดีตากใบนี้ มีตั้งแต่การออกพระราชกำหนดยืดอายุความของคดี จนถึงข้อเสนอแก้กฎหมายเกี่ยวเนื่องกับอายุความ อีกหนึ่งข้อเสนอคือการตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริง (Truth Commission) 

อ.ศรีสมภพชี้ว่า แม้หลังเหตุการณ์ตากใบ จะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว แต่สถานการณ์หลังผ่านมา 20 ปี นั้นมีรายละเอียดและการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นกว่าเดิม เช่น วิธีการสลายฝูงชนของเจ้าหน้าที่ซึ่งเจ้าหน้าที่แจงว่ามีการยิงปืนขึ้นฟ้า แต่ภาพถ่ายและวิดีโอเหตุการณ์พบว่ามีการยิงแนวราบ และใช้อาวุธปืนจริงไม่ใช่กระสุนยางสำหรับควบคุมฝูงชน รวมถึงข้อกล่าวหาการครอบครองอาวุธของผู้ชุมนุม แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นต้น 

“ในหลักสันติภาพ กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมที่มีความขัดแย้ง เราต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกันให้ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่มุ่งเน้นการหาคนผิด แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น” นักวิชาการจากสถาบันสันติศึกษากล่าว

เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: The International Comission of Jurists, แฟ้มภาพ

อ่านต่อ

เอกรินทร์ ต่วนศิริ: มองรัฐบาล ‘แพทองธาร’ ถึงคราวภาคใต้เปลี่ยนผ่านทางการเมือง?

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล : มองการเมืองหลังยุบพรรคก้าวไกล สถานการณ์ชายแดนใต้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *