เด็กไทยตายเพราะจมน้ำวันละ 2 คน ปีละ 737 คน ย้ำหลักการป้องกันและช่วยเหลือ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” และ “ ตะโกน โยน ยื่น”

การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยสูงกว่าทุกสาเหตุ ช่วง 10 ปี (พ.ศ.2555 – 2564)  โดยเฉพาะใน เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำไปแล้วถึง 7,374 คน เฉลี่ยปีละ 737 คน หรือวันละ 2 คน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ฤดูร้อน มีนาคม – พฤษภาคม เป็นเวลาสามเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด คือ 241 คน หรือวันละเกือบ 3 คน (ข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่12 เม.ย. 2565) 

สถิติ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565-2565)ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม – พฤษภาคม) จำนวน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย ส่วนจังหวัดสงขลา ค่าเฉลี่ย 5 ปี ( 2560 – 2564) อัตราการเสียชีวิตต่อประชากรเด็กแสนคน อยู่ในช่วง 3.0 – 6.4 ถือเป็นกลุ่มจังหวัดเสี่ยงปานกลาง โดยปี 2565 ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2565 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตจำนวน 10 ราย พื้นที่  อ.เมืองสงขลา  3  ราย   อ.จะนะ 2 ราย  อ.เทพา  2  ราย อ.หาดใหญ่ อ.สะบ้าย้อย  และ อ.ควนเนียง อำเภอละ 1 ราย (ข้อมูลจาก  Drowning Report)  เป็นเพศหญิง ร้อยละ 60 เพศชายร้อยละ 40  กลุ่มอายุ  10 – 14 ปี (เสียชีวิตสูงสุด 6 ราย)  ช่วงเวลาที่เกิดเหตุจมน้ำมากที่สุด คือ 12.00 – 14.00 น. เหตุจมน้ำส่วนใหญ่เกิดในแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ ทะเล และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ คู คลอง ฝาย และเขื่อน

นพ.สงกรานต์  ไหมชุม  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวย้ำวิธีการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี เน้นใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม”  ดังนี้ 1) อย่าเข้าใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ 2) อย่าเก็บสิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ 3) อย่าก้มหรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ เพราะอาจหัวคะมำลงไปในน้ำได้  ส่วนกลุ่มเด็กโตเน้นห้ามเล่นน้ำกันตามลำพัง  หากพบเด็กกำลังจมน้ำควรใช้มาตรการ “ ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ 1) ตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ  2) โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ และ 3) ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้าให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ  นอกจากชุมชนยังมีบทบาทป้องกันเหตุจมน้ำโดยสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง  จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย  เช่น การสร้างรั้วกั้น ติดตั้งป้ายเตือน และเตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง  หากพบเห็นการจมน้ำสามารถขอความช่วยเหลือจากศูนย์นเรนทรโทรสายด่วน 1669 

โพสต์ไว้ที่: News เก็บเข้าไฟล์ไว้ที่:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *