รายงานผลกระทบ น้ำท่วมภาคใต้ 4 ธ.ค. 2567

สถานการณ์น้ำท่วม 5 จังหวัดภาคใต้ 4 ธ.ค. 2567 จ.สงขลา ยังท่วมขังคาบสมุทรสทิงพระ 4 อำเภอ ม.อ.ปัตตานี ยังเปิดรับสิ่งของส่งต่อความช่วยเหลือ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยอดความเสียหายสถานการณ์น้ำท่วม 5 จังหวัดภาคใต้ ข้อมูลวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เวลา 10:30 น. พื้นที่ ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ และผู้เสียชีวิตสะสมรายจังหวัด ดังนี้

1) จังหวัดนครศรีธรรมราช น้ำท่วม 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.เมืองฯ อ.ปากพนัง อ.หัวไทร และอ.เชียรใหญ่ ประชาชนได้รับผลกระทบ 48,331 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิตสะสม 1 ราย 

2) จังหวัดพัทลุง น้ำท่วม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ควนขนุน อ.ปากพะยูน อ.บางแก้ว และ อ.เขาชัยสน ทั้งหมด 3,707 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิตสะสม 2 ราย 

3) จังหวัดสงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด อ.สิงหนคร อ.กระแสสินธุ์ และสทิงพระ ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,643 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิตสะสม 10 ราย 

4) จังหวัดปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.ยะรัง อ.เมืองฯ อ.สายบุรี และ อ.กะพ้อ รวม 41 ตำบล 216 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65,769 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิตสะสม 7 ราย ปัจจุบันแม่น้ำปัตตานีระดับน้ำลดลง

5) จังหวัดนราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สุไหงโก-ลก และอ.ตากใบ รวม 16 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,444  ครัวเรือน 

ข้อมูลภาพรวมตั้งแต่ที่ 22 พ.ย. – 4 ธ.ค. 67 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 87 อำเภอ 538 ตำบล 3,729 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 664,173 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิตสะสม 29 ราย

ม.อ. ปัตตานี ยังเปิดรับบริจาคสิ่งของอุปโภค บริโภค

ในส่วนพื้นที่ จ.ปัตตานี วานนี้ (3 ธ.ค.) จากการพูดคุยกับ ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า พื้นที่วิทยาเขตปัตตานีน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 25-27 พ.ย. 2567 และตอนนี้ระดับน้ำแห้งทั้งหมด และดำเนินการจัดพื้นที่โรงครัวช่วยเหลือแจกจ่ายอาหารให้พื้นที่อื่น

ผศ.ดร.อรุณีวรรณ มองว่าน้ำท่วมครั้งนี้ จ.ปัตตานีท่วมทั้งจังหวัด จากเดิมที่เกิดน้ำท่วมบางอำเภอ ทางมหาวิทยาลัยเปิดให้แสดงความจำนงค์พักอาศัยในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษา และมหาวิทยาลัยเปิดครัวกลางช่วยเหลือนักศึกษา 

พื้นที่น้ำท่วมประจำ เช่น ชุมชนปะกาฮะรัง อ.เมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ สถานการณ์เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ยังมีน้ำท่วมสูงถึงคอ มหาวิทยาลัยแจกจ่ายอาหารค่อนข้างมาก ส่วน อ.หนองจิก ยังเปิดรับความต้องการทั้งอาหารและน้ำดื่มสะอาด ส่วน ม.อ. ทำข้าวกล่องแจกวันละ 1,500 กล่องทั่ว จ.ปัตตานี และสิ้นสุดการผลิตอาหารเพื่อแจกจ่ายอาหารกล่องวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา 

ในส่วนวัตถุดิบสนับสนุนโรงครัว ผศ.ดร.อรุณีวรรณ เผยว่านอกจากการหาซื้อในพื้นที่รอบวิทยาเขตปัตตานีแล้ว ยังได้รับการบริจาคจากพื้นที่ อ.หาดใหญ่ ทั้ง ม.อ. วิทยาเขตหาดใหญ่ มูลนิธิ รวมถึง บริษัทเอกชน 

ส่วนแผนงานฟื้นฟูชุมชนหลังอุทกภัย ผศ.ดร.อรุณีวรรณเผยว่าศูนย์วิจันแก้ปัญหาความยากจน ของมหาวิทยาลัย จะร่วมกันวางแผนร่วมกับศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. วิทยาเขตปัตตานีต่อไป 

ผศ.ดร.อรุณีวรรณเผยว่าการสื่อสารข้อมูลในพื้นที่ขณะเกิดอุทกภัยใช้เครื่องมือหอกระจายข่าวเป็นหลัก เพื่อช่วยกระจายข่าวสารและมองว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำงานประสานงานร่วมกับเทศบาลในพื้นที่เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน 

ปิดรับการช่วยเหลือเงินบริจาคเป็นจำนวนเงิน ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. ส่วนของใช้ เครื่องอุปโภค บริโภค สามารถบริจาคได้อย่างต่อเนื่อง ติดต่อได้ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *