อ.มนัส กันตวิรุฒ
ผู้อำนวยการหอประวัติ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
13 มีนาคมของทุกปี คือวันสำคัญวันหนึ่งของชาวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเทศไทยได้ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย โรคดังกล่าวกระทบกับทั่วโลก จึงงดจัดกิจกรรมนี้ไป 1 ปี แต่ยังมีกิจกรรมบริจาคโลหิต ขายหนังสือเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างอาคารเย็นศิระ
วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะวันนี้เมื่อ 52 ปีที่แล้ว คือ 13 มีนาคม 2511 เป็นวันที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฉบับแรกมีผลบังคับใช้ จึงถือกันว่าวันนี้เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
ในหลายปีที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ที่เรียกว่า วัน “คุณค่าสงขลานครินทร์” โดยมีการปาฐกถาพิเศษ การมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ อาจารย์ บุคลากร นักกีฬา และนักศึกษาที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย แต่ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเทศ ไทยได้ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย โรคดังกล่าวกระทบกับทั่วโลก จึงงดจัดกิจกรรมนี้ไป 1 ปี อย่างไรก็ตาม บางกิจกรรมก็ยังมีอยู่เช่น กิจกรรมบริจาคโลหิตที่ใต้ตึกกิจกรรม
อาจารย์มนัส กันตวิรุฒ ผู้อำนวยการหอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารหน่วยงานในมหาวิทยาลัยที่อายุมากที่สุดที่ยังมีตำแหน่งบริหารอยู่ และยังใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ถึง 46 ปี ได้ให้เล่าถึงการเริ่มต้นการศึกษาด้วยชื่อ “มหาวิทยาลัยภาคใต้” โดยปีการศึกษา 2510 รับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคใต้ รุ่นแรก เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ปีการศึกษา 2511 รับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รุ่นแรก เรียนที่ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกัน และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2511 นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ย้ายมาเรียนที่วิทยาเขตปัตตานี จนเมื่อพฤษภาคม 2514 นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงย้ายมาเรียนที่วิทยาเขตหาดใหญ่
ผู้อำนวยการหอประวัติ ยังได้เล่าถึงบรรยากาศของวิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้วซึ่งหลายคนไม่เคยทราบมาก่อนว่า
ปี 2562 ปัญหาหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นอกจาก “สุนัข” แล้ว คือปัญหาของ “ลิง” ที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนในเขตที่พักบุคลากร ทำลายทรัพย์สินและนับวันจะสร้างปัญหาบ่อยขึ้น จนต้องเอาเข้าที่ประชุมระดับวิทยาเขตเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากพฤติกรรมของลิง ขณะที่หลายท่านบอกว่า ปล่อยไว้ก็เหมาะกับเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวดี เหมือนที่มี “กระรอก” เต็มวิทยาเขตในทุกวันนี้
แต่ “ลิง” ไม่ใช่สัตว์เพียงชนิดเดียวที่สร้างปัญหาให้กับมหาวิทยาลัยเชิงเขาคอหงส์แห่งนี้ รุ่นแรกๆ ที่เจอตอนเริ่มสร้างวิทยาเขตหาดใหญ่คือ “งู” ซึ่งมีอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะงูกะปะ เป็นที่ร่ำลือเพราะพื้นที่รอบๆ ยังเป็นป่า อาจารย์หลายท่านที่พักอยู่ในหมู่บ้านริมอ่างน้ำจะพบเจอแขกไม่ได้รับเชิญอยู่ประจำตามขื่อ หลังคาบ้าน แม้กระทั่งบนเตียงนอน
“ท่านอดีตอธิการบดีคือ ศ.นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย์ ถึงกับต้องออกประกาศว่า ถ้าใครสามารถจับงูได้ไม่ว่าเป็นหรือตาย จะได้รางวัลนำจับตัวละ 1 บาท ซึ่งค่าของเงินเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วรวมกับปริมาณผู้ถูกตั้งค่าหัวในขณะนั้นถือว่าเป็นรางวัลที่สมเหตุสมผล”
“ควนมดแดง” คือชื่อที่บ่งบอกว่าก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างที่พักบนเนินเขาริมอ่างน้ำ เคยเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของสัตว์ชนิดหนึ่งมาก่อน จนอาจารย์อมร ศรีวงศ์ สถาปนิกอาวุโสที่เป็นที่รู้จักในแวดวงงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทย และมีผลงานที่โดดเด่นด้านรูปทรงที่แปลกตา สวยงาม ที่เห็นในวิทยาเขตหาดใหญ่คือ ตึกฟักทอง และ อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเข้ามาออกแบบอาคารบริเวณดังกล่าว เสนอให้ท่าน ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดมดก่อนที่จะก่อสร้างอาคาร “ท่านอาจารย์สตางค์โยนซองยาฆ่ามดทั้งหมดทิ้ง แล้วบอกให้ไปหาธูปมา ก่อนจุดธูปแล้วทรุดตัวลงพนมมือไหว้ บอกเทพยดาที่คุ้มครองพื้นที่ว่า เรากำลังจะมาสร้างความเจริญให้พื้นที่นี้ ขอให้ท่านช่วยจัดการมดแดงพวกนี้ด้วย”
อาจารย์อมร ศรีวงศ์ พูดกับ ท่าน อ.มนัส กันตวิรุฒ ทุกครั้งที่พบกันว่า หลังจากนั้นไม่นานมีคนเห็นขบวนมดแดงยาวเหยียดพากันเดินจากเนินเขานั้นขึ้นไปบนเขาคอหงส์ ที่ไม่เห็นด้วยตาตัวเองแต่มีเพื่อนอาจารย์เคยชักชวนกันให้ไปดูคือ “กวาง” คู่หนึ่งที่ไปปรากฏตัวกินน้ำที่อ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัย แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็ไม่มีใครได้พบเห็นอีกเลย
ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 13 มีนาคม 2563 ในวิกฤติ COVID-19 เมื่อหลายกิจกรรมถูกยกเลิกไป การมาย้อนหลังถึงอดีตที่เป็นบรรยากาศธรรมชาติ ของ ม.อ. ก็มีความสุขดีเหมือนกัน