ดร.บดินทร์ แวลาเตะ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวถึงแนวทางการสร้างนักศึกษาให้เป็นผู้ที่พร้อมจะออกไปใช้ชีวิต และอยู่ในโลกของการทำงานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและปัญหาความไม่แน่นอนว่า แม้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะได้รับการประเมินโดยสถาบันการจัดอันดับคุณภาพให้เป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพของไทย แต่ก็ยังเน้นนโยบายการพัฒนานักศึกษาให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา นอกเหนือจากการมีเพียงความรู้ทางวิชาการเท่านั้น
ในส่วนของวิทยาเขตปัตตานี ซึ่งจะมีโจทย์ให้ต้องแก้ปัญหามากกว่าวิทยาเขตอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีเรื่องของสถานการณ์และปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ จึงได้วางรูปแบบการพัฒนานักศึกษาโดยบูรณาการวิชาการและกิจการนักศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์การได้งานทำและการมีสมรรถนะในการอยู่ร่วมกันได้ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยใช้หลัก 5H สู่การเป็น SMART Student หรือนักศึกษาที่มีคุณภาพ ใน 5 เรื่องคือ SMART Head ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนเพื่อให้มีความรู้ลึกซึ่งในวิชาชีพที่กำลังศึกษา โดยมหาวิทยาลัยได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาและความมีมาตรฐานของหลักสูตร SMART Heart ความเป็นผู้มีจิตใจดีมีจิตสาธารณะ เห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์มากกว่าประโยชน์ส่วนตน SMART Hand การเป็นผู้ที่มีทักษะในการทำงานการใช้ชีวิตร่วมกัน มีความคิดสร้างสรรค์โดยบูรณาการความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน SMART Habits การสร้างนิสัยบัณฑิตให้เป็นผู้มีมรรยาทสังคม ตั้งแต่ในชีวิตนักศึกษาจนถึงในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการมีบุคลิกภาพที่ดีที่สังคมต้องการ
และสุดท้ายคือ SMART Health คือเป็นผู้มีสุขภาพกายและจิตที่ดี มีการส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ อย่างไรก็ตามเยาวชนในปัจจุบันมักอยู่ท่ามกลางความสะดวกสบายจึงมีสภาพจิตใจที่มีความอดทนค่อนข้างจำกัด วิทยาเขตปัตตานีจึงได้มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพจิตนักศึกษา โดยนักศึกษาใหม่ทุกคนต้องทำแบบสอบถามในช่วงของการลงทะเบียนเรียนเพื่อประเมินสุขภาพจิตใจ ทำให้ได้ทราบว่านักศึกษาส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลโดยยิ่งปีการศึกษาสูงขึ้นยิ่งมีความวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการกังวลเรื่องการได้งานทำหลังจบการศึกษา ซึ่งจะมีการพูดคุยหรือดำเนินการเพื่อลดปัญหาดังกล่าว และจะมีการดูแลเป็นพิเศษสำหรับบางกรณีต่อไป
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังให้ความสำคัญกับสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียน โดยนำเรื่องของความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green Campus เข้าเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมนักศึกษาซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนสู่การลดมลพิษและสร้างการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และมีการลงนามความร่วมมือในการดำเนินการสำนักงานสีเขียว หรือ Green Office ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ 16 หน่วยงานในวิทยาเขต เพื่อขับเคลื่อนสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว หรือ Green University ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งของการร่วมกันขยายพื้นที่สีเขียวทั่วทั้งวิทยาเขต หลังจากที่กองกิจการนักศึกษาวิทยาเขตปัตตานี ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยมจากการตรวจประเมินสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Office) ระดับประเทศ เมื่อปี 2562 มาแล้ว
การเตรียมเพื่อเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เริ่มตั้งแต่ปี 2560 จากการรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกและโฟมในวิทยาเขต การมีโครงการธนาคารขยะซึ่งกองกิจการนักศึกษาเป็นผู้ดูแล และในปี 2562 ได้ใช้เกณฑ์การประเมินของกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อมที่เน้นเฉพาะอาคารใดอาคารหนึ่ง โดยได้ใช้อาคารกองกิจการนักศึกษาในเนื้อที่กว่า 500 ตารางเมตร เกณฑ์ดังกล่าวจะเน้นนโยบาย การจัดการพลังงาน การจัดการขยะ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนจนผ่านการประเมินด้วยคะแนนระดับเหรียญทองในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของชาวสงขลานครินทร์ และหากทุกอาคารในวิทยาเขตใช้นโยบายนี้ร่วมกันและทุกคนเห็นความสำคัญและพร้อมจะให้ความร่วมมือ ก็จะสามารถประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และลดขยะได้จำนวนมากในแต่ละปี
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย หรือ SUN Thailand ซึ่งมีเป้าหมายการทำงานเพื่อพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่วางไว้อีกด้วย