คิดทัน กันโควิด กับวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่
ตอน Social Distancing ปิด/ เว้น/ เลี่ยง ลดเสี่ยงโควิด
โซเชียล ดีสแทนซิ่ง (Social Distancing) ถือเป็นอีกหนึ่งคำที่เราจะได้ยินผ่านสื่อมากขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 ทั้งนี้ก็เพราะมีข้อมูลสนับสนุนแล้วว่า ผู้ใกล้ชิดหรือเพียงมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยด้วยไวรัสชนิดใหม่นี้ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเช่นกัน และเมื่อไวรัสนี้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จึงยังไม่มีใครมีภูมิต้านทานไวรัสตัวนี้มาก่อน ซึ่งยิ่งทำให้เพิ่มโอกาสจะเจ็บป่วยจากเชื้อนี้ได้ง่าย
และด้วยลักษณะอาการที่แสดงของเชื้อยังเป็นไปได้ในหลายลักษณะ รวมทั้งระยะฟักตัวของโรคก็กินเวลาได้ยาวนานตั้งแต่ 2-14 วัน หรือบางกรณีผู้รับเชื้ออาจไม่แสดงอาการเจ็บป่วยเลย จึงทำให้ผู้ที่มีเชื้อในร่างกายเหล่านี้กลายเป็นพาหะชั้นดีของการส่งต่อเชื้อไปยังผู้คนในสังคมได้ ทางเดียวที่จะยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้างให้ได้ผลดีที่สุดจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในการปฏิบัติตามแนวทาง โซเชียล ดีสแทนซิ่ง นี่เอง
เพราะฉะนั้น ตอนนี้ขอให้คิดไว้ก่อนว่า ไม่ว่าเราหรือใครๆ สภาพร่างกายจะดูแข็งแรงยังไง ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่จะต้องมาร่วมมือกัน “ปิด/ เว้น/ เลี่ยง” อย่างจริงจังเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน
“ปิด” บ้าน ไม่จำเป็นก็อย่าออกไปไหน ถ้าต้องไปไหนก็จดบันทึกสถานที่ที่ไปไว้ งดการไปมาหาสู่ของเพื่อนและญาติ และเปลี่ยนเป็นการโทรศัพท์ หรือแชทผ่านช่องทางโซเชียลแทน
“ปิด” ใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยเมื่อ “จำเป็น” ต้องไปอยู่ในพื้นที่ชุนนุมชน และเมื่อกลับถึงบ้านต้องล้างมือก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าใช้หน้ากากผ้าให้รีบซักและตากให้แห้งก่อนใช้ครั้งต่อไป ส่วนหน้ากากอนามัยให้แยกทิ้งในถุงขยะต่างหาก ถ้าไม่มีถุงขยะแบบสำหรบขยะติดเชื้อ ให้ใช้ถุงดำหรือถุงพลาสติกแล้วเขียนกำกับที่ถุงก่อนนำไปทิ้ง
“เว้น” ระยะห่างทั้งคนในบ้านกันเอง และเมื่อออกไปในที่ชุมชน อย่างน้อย 1-2 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เชื้อจะกระจายมาถึงได้ หากต้องนั่งในที่สาธารณะให้นั่งเว้นห่างกันหนึ่งช่วงที่นั่ง การเข้าคิวก็ควรเว้นระยะเช่นเดียวกัน
“เลี่ยง” สถานที่ที่เป็นที่ชุมชน เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาด สถานีขนส่ง ระบบขนส่งสาธารณะ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ขอให้ใช้เวลาในสถานที่ดังกล่าวให้น้อยที่สุด ในที่นี้รวมถึงการสังสรรค์ พบปะกันทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นงานปาร์ตี้ในสถานที่ปิด หรือการนัดเจอกลุ่มตามสวนสาธารณะ หรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจต่างๆ และแม้แต่การตั้งวงเพื่อนฝูงเฮฮากันที่บ้าน
“เลี่ยง” การสัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่แตะหรือจับมือทักทาย หรือเดิน/ ยืนเบียดในหมู่คน
“เลี่ยง” มื้ออาหารที่มีสำรับกลางร่วมกัน เปลี่ยนเป็นการรับประทานแบบอาหารจานเดียว หรือใช้ชุดอาหารจานช้อนส้อมเฉพาะบุคคล ไม่หยิบช้อนปะปนกัน
“เลี่ยง” การใช้เงินสด ถ้าจำเป็นให้เตรียมเงินแบบพอดีกับราคาสินค้า เพื่อเลี่ยงการรับเงินทอน หรือเปลี่ยนมาใช้ระบบกระเป๋าเงินอิเล็คทรอนิกส์ หรือระบบสแกนคิวอาร์ของร้านค้า
ซึ่งทุกการปิด/ เว้น/ เลี่ยง ก็เพื่อให้สังคมไม่ต้องอยู่กับโควิด 19 นานเกินไป ยิ่งเราช่วยกันเคร่งครัดมากเท่าไหร่ เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติเร็วขึ้นเท่านั้น…ช่วยกันนะ