“ดื่มสุรา” เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย/ไวรัส 3 -7 เท่า !!

“การดื่มสุราทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสกว่า 3 – 7 เท่า มีโอกาสเข้าไอซียู มากกว่าปกติ  60% หากป่วยเป็นโรคปอดบวม  กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขั้นไป ยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและป่วยเป็นหวัดได้  30% ส่วนหญิงตั้งครรภ์ ที่ดื่มสุรา เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอดของทารกแรกเกิดถึง 2.9 เท่า” 

แพทย์หญิงพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต  กล่าวถึง โอกาสการติดเชื้อโควิด19 ในผู้ที่ดื่มสุรา เนื่องจากในประเทศไทยสำหรับพฤติกรรมดื่มสุราพบมากในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 2.7 ล้านคน ดื่มแบบอันตราย 1.8 ล้านคน และดื่มแบบติด 9 แสนคน ที่มีปัญหาการดื่มสุราเข้ารับการรักษาเพียง 265,540 คน ผู้มีปัญหาการดื่มสุราที่ควรได้รับการดูแลรักษาได้รับการรักษาจริงเพียง 9.83% แสดงว่า มีผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา อีกจำนวนมากกว่า 90% ที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษา อย่างไรก็ตามปัญหาพฤติกรรมการดื่มสุรา ติดสุรา สามารถรักษาได้

จากมาตรการงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 12 เมษายน – 30 เมษายน 2563 ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ทำการสำรวจประชาชนใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,566 คน ระหว่างวันที่ 18 – 19 เมษายน 2563 พบว่า ประชาชนไม่ดื่มเลย 48.5% ดื่มน้อยลง 33.0% ดื่มเท่าเดิม 18.2% ดื่มบ่อยขึ้น 0.3%  โดยสาเหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มเหล่านี้หยุดดื่มหรือดื่มน้อยลง คือ หาซื้อไม่ได้/หาซื้อยาก, กลัวเสี่ยงติดเชื้อ, รายได้น้อยลง/ไม่มีเงินซื้อ และต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

สำหรับบทเรียนจากมาตรการงดขายสุรา ในช่วง 1 เดือน พบว่า สามารถลดการรวมกลุ่มดื่มสุรา รักษาระยะห่างทางสังคม ลดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด19 เพิ่มโอกาสให้ดื่มสุราลดลง ผู้ติดสุราสามารถลดและหยุดดื่มได้ ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ดื่มสุรา และครอบครัว ชุมชน ขณะที่มาตรการที่ยาวนาน ช่วยให้ผู้ดื่มสุรา ปรับตัวคุ้นชินกับพฤติกรรมใหม่ที่ไม่ดื่มสุรา สมองและร่างกายมีเวลาพัก ฟื้นฟูสุขภาพ และสามารถหยุดดื่มสุราได้อย่างถาวรในที่สุด

นอกจากนี้ การดื่มหนักและการดื่มเป็นประจำ ผลจากแอลกอฮอล์ที่มีต่อความสมดุลของสารสื่อนำประสาทในสมองทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ขณะเดียวกันแอลกอฮอล์ทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ การตัดสินใจเสีย เสี่ยงทั้งการเกิดความรุนแรง และการทำร้ายตัวเองอีกด้วย

สำหรับผู้ที่ต้องการหยุดดื่มเหล้า สามารถขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)