ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ คือช่วงนอนหลับ เพราะเป็นช่วงที่อวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายส่วนใหญ่พักการทำงานอย่างเต็มที่ แต่การนอนหลับไม่ได้ง่ายๆ แค่ล้มตัวลงบนเตียงแล้วเอาหัวหนุนหมอนเท่านั้น เพราะหากอยากนอนหลับอย่างทีคุณภาพ ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่จริงๆ
การนอนเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่มักจะถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กทารกจะใช้เวลาส่วนใหญ่ทั้งกลางวันและกลางคืนในการนอน ช่วงเวลาของการนอนจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และวัยชรา การนอนหลับช่วยให้ร่างกายและสมองได้พักผ่อนหลังจากการทำงานมาอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางวัน ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนสามารถอดนอนได้เกินกว่า 7 วัน เนื่องจากสมองของคนๆ นั้นจะไม่สามารถทนสภาพเหนื่อยล้าเช่นนั้นได้ มนุษย์เราใช้เวลาในการนอนประมาณ 3,000 ชั่วโมงใน 1 ปี ซึ่งเท่ากับประมาณ 1/3 ของชีวิต ดังนั้นหากการนอนหลับไม่เพียงพอหรือมีปัญหา จะทำให้เกิดผลเสียต่างๆ ตามมาได้
ทางวิทยาศาสตร์เราทราบกันมานานแล้วว่า สมองส่วนที่ควบคุมการรู้สึกตัวหรือการตื่นของเรานั้น ถูกควบคุมโดยก้านสมอง คือส่วนที่เรียกว่า Reticular Activating System โดยระบบนี้จะรับกระแสประสาทมาจาก อวัยวะต่างๆ ผิวกาย กล้ามเนื้อ ฯลฯ แล้วมันจะส่งกระแสประสาทไปสู่ส่วนต่างๆ ของสมองทั้งหมด เพื่อกระตุ้นให้มีการรู้สึกทั่วตัวพร้อมกัน ดังนั้นระบบการปลุกให้ตื่นขึ้นมาจาการรับสัญญาณต่างๆจากระบบสัมผัสรอบๆตัวเรานั่นเอง
วงจรการนอนหลับปกติของมนุษย์ แบ่งได้เป็น 2 ช่วงคือ
1. ช่วงหลับธรรมดา NON-RAPID EYE MOVEMENT SLEEP หรือ NON-REM SLEEP เป็นช่วงการหลับที่จะลึกลงไปเรื่อยๆ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตั้งแต่หลับตื้นไปจนถึงหลับลึก
1.1 ระยะที่ 1 เริ่มง่วง
1.2 ระยะที่ 2 หลับตื้น
1.3 ระยะที่ 3 หลับปานกลาง
1.4 ระยะที่ 4 หลับลึก
2. ช่วงหลับฝัน บางทีก้อเรียกว่าการหลับแบบลูกตากรอกไปมา REM : RAPID EYE MOVEMENT SLEEP หรือ REM SLEEP
วงจรของการหลับ หลับลึกและความฝันเกิดได้อย่างไร??
ในขณะที่เรานอนนั้น เมื่อเราเริ่มหลับ เราจะเข้าสู่ระยะ NREM ระยะที่ 1 และเลื่อนไหลไปสู่ระยะที่ 2, 3, 4 ตามลำดับ แล้วจึงถอยกลับมาเข้าสู่ระยะ NREM ระยะที่ 4, 3, 2, 1 จากนั้นจึงเข้าสู่ ระยะ REM แล้วจึงเริ่มกลับมาเข้าสู่ระยะ NREM ระยะที่ 1, 2, 3, 4 ใหม่ เป็นการเริ่มรอบใหม่ของวงกลมของการนอนหลับ จากจุดเริ่มต้นของ REM ไปสู่จุดเริ่มต้นของ REM รอบใหม่ เราเรียกว่า หนึ่งรอบการนอน (1 Sleep Cycle) ใน 1 รอบ นั้นกินเวลาประมาณ 90 นาที คือ เป็น NREM ประมาณ 80 นาที และ REM ประมาณ 10 นาที ในหนึ่งคืนของการนอน จะมีจำนวนรอบการนอนประมาณ 3-6 รอบ
“ยิ่งรอบของการนอนดำเนินไปมากเท่าไร ระยะเวลาในช่วงของการหลับลึก คือ Slow Wave Sleep ก็ยิ่งสั้นลงเท่านั้น ตรงกันข้ามกับ REM Sleep ที่จะยิ่งนานขึ้นเรื่อย ซึ่งคลื่นไฟฟ้าสมองแสดงให้เห็นว่าประกอบด้วยสี่ขั้นตอน เราจะหลับครบทั้งสี่ขั้นตอนในช่วงต้นๆของการหลับ ส่วนในช่วงใกล้ตื่นอาจเหลือเพียงขั้นตอนที่หนึ่ง เมื่อวงจรการหลับแบบลูกตาไม่มีการเคลื่อนไหวสิ้นสุดลงแต่ละครั้ง เราจะหลับแบบกรอกลูกตาไปมาหรือหลับฝันประมาณ 5-35 นาที แล้วจึงเริ่มวงจรใหม่”
สมองส่วนไหน ช่วยให้นอนหลับปุ๋ย?
การนอนหลับนั้นไม่ใช่ภาวะที่เกิดขึ้นมา อย่างบังเอิญ แต่มันเป็นภาวะที่เกิดจากขบวนการต่างๆ ของร่างกายทำขึ้นมาอย่างจงใจ ปัจจุบันเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่า NREM Sleep นั้น ถูกก่อให้เกิดมาจากขบวนการของสมองส่วนไหน แต่เชื่อว่าเกิดจากสมองหลายๆ ส่วนทำงานร่วมกัน แต่สำหรับ REM Sleep นั้น ปัจจุบันพบว่า ก้านสมองส่วนที่เรียกว่า Pons นั้นมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดการนอนหลับขึ้นมา
สรุปก็คือ การนอนหลับนั้นเป็นสิ่งที่ร่างกายก่อให้เกิดขึ้นมาอย่างตั้งใจ เพื่อวัตถุประสงค์ที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เพราะเราพบว่าการนอนหลับที่ไม่เพียงพอนั้น ก่อให้เกิดภาวะความผิดปกติของร่างกายมากมาย เช่น ทำให้อารมณ์ไม่ดี ขี้หงุดหงิด เครียด เหนื่อยง่าย เวียนหัว ภูมิต้านทานต่ำลง ฯลฯ แต่ก็มีการวิจัยที่พบเช่นกันว่าคนที่นอนมากจนเกินไปนั้น มีอัตราอายุที่สั้นกว่าคนที่มีนอนในปริมาณที่เหมาะสม
ขอบคุณข้อมูล : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข