นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยถึง สถานการณ์โรคไข้เลือดออกค่อนข้างน่าเป็นห่วง ในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 24 มิถุนายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 14,136 ราย เสียชีวิต 17 ราย จากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระยอง ชัยภูมิ ขอนแก่น อ่างทอง และราชบุรี ตามลำดับ
โดยโรคติดต่อจากยุงลายอื่น อาทิ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาต่อเนื่อง ส่งผลให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทั้งในและรอบบริเวณบ้าน จนอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย เป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก จากสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา โดยจากข้อมูลทางระบาดวิทยาตั้งแต่ 1 มกราคม – 24 มิถุนายน 2563 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วย ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ พบรายงานผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 1,937 ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต และคาดการณ์ว่าโรคไข้เลือดออกจะระบาดรุนแรงขึ้น
ดังนั้นประชาชนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ด้วยการใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่
- เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก
- เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
- เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด เช่น โอ่ง ไห ขวด ถัง เป็นต้น ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะในช่วงที่ทุกคนอยู่บ้าน ควรช่วยกัน เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422