การพิจารณาของ UNESCO เพื่อคัดเลือกเมืองมรดกโลก จะมีหลายมุมมอง เช่น มุมมองของประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และ มุมมองด้านทรัพยากรธรรมชาติ แต่สามารถรวมจุดแข็งทั้ง 2 ด้านเพื่อเป็นอีกมุมมองหนึ่งได้ ซึ่งจะต้องมีการสรุปจุดเด่นที่ดีที่สุดเพื่อนำไปจัดทำเอกสารเสนอต่อไป ซึ่งจากความก้าวหน้าของโครงการนำ “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” ในขณะนี้ ได้มีการบรรจุเข้าในแผนพัฒนาจังหวัดสงขลาแล้ว และ UNESCO ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสมาร่วมกับคณะทำงานเพื่อจัดเตรียมเอกสาร ซึ่งใช้เวลารวบรวมประมาณ 6 เดือน ซึ่งหน่วยงานด้านการศึกษาและหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่รวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมีส่วนร่วมในการช่วยกันในการรวบรวมข้อมูลจากในพื้นที่ ชุมชน การจัดการ และสภาพแวดล้อม
ทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งที่มีความสำคัญด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีพรุขี้เสียนซึ่งเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญอยู่บริเวณตอนบนของทะเลสาบ และเป็นที่สนใจศึกษาของนักวิชาการในอาเซียนและทั่วโลก มีระบบนิเวศที่เป็นทะเลสาบ 3 น้ำที่มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ทำให้พืชและสัตว์ที่อาศัยบริเวณดังกล่าวมีรสชาติที่อร่อยพิเศษต่างจากบริเวณอื่น เช่น ปลากะพง นอกจากนั้น “มะม่วงเบา” ที่ปลูกบนคาบสมุทรสทิงพระซึ่งมีความพิเศษที่เปลือกบางกลิ่นหอมยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นของหวานที่เป็นที่นิยม และ “ตาลโตนด” ซึ่งมีใยตาลเหนียวเป็นพิเศษที่สามารถนำผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ได้ดี ซึ่งจังหวัดสงขลาได้มีการขับเคลื่อนให้ สัตว์และพืชเหล่านี้ ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของทะเลสาบสงขลาเพื่อประกอบโครงการ “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา เดวิสัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในการจัดงานสัปดาห์อาเซียน ครั้งที่ 7 ประจำปี 2563 ในหัวข้อ “ASEAN Health Promotion” โดยศูนย์อาเซียนศึกษา กิจกรรมเด่นของงาน ในส่วนที่เป็นเทศกาลอาหารนานาชาติ คือการสาธิตการทำอาหารโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกงสุลทั้ง 3 ประเทศ โดยปีนี้เมนูของท่านอธิการบดีคือ “ปลากะพงสามน้ำสลัดทะเลสาบ” ตามแนวคิด Songkhla lake seabass goes international โดย “ปลากะพงสามน้ำ” คือปลากะพงขาวที่เลี้ยงในทะเลสาบ ไม่คาวและมีรสชาติดี ส่วน “สลัดทะเลสาบ” คือเต้าคั่ว ที่มีส่วนประกอบเป็นน้ำตาลและน้ำส้มจากตาลโตนด เป็นความพิเศษเฉพาะของพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นการบูรณาการกับจังหวัดสงขลาในการเผยแพร่จุดเด่นของเมืองสงขลาไปสู่เมนูอาหารที่เป็นสากล
กิจกรรมเด่นอื่นๆ ของงานสัปดาห์อาเซียนประจำปีนี้คือ “ปาฐกถา ดร.ถนัด คอมันตร์” จัดในวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 10.00 – 11.00 น. หัวข้อ “ความร่วมมือทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในอาเซียน” โดย ดร.สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ และอดีตอธิบดีกรมอาเซียนซึ่งมีส่วนเป็นกลไกขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ เป็นปาฐกถาออนไลน์จากประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น
– นิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปของอาเซียน นิทรรศการศิลปกรรมอาเซียน ที่ PSU Art Gallery ชั้น 2 ศูนย์ส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม
– Talk Show “Surprised Food in My Good Journey” โดย นิยาซีน สุไลมาน เจ้าของเพจ Yes I Go ในวันที่ 27 กันยายน 2563 ระหว่าง 18.20 – 19.20 ที่ลานหน้าตึกกิจกรรมนักศึกษา
– เทศกาลอาหารนานาชาติ ASEAN Night & International ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2563 เวลา 15.00 – 21.00 น. ที่ลานหน้าตึกกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งประกอบด้วย Food Festival โดยจะมีการแบ่งจัดเป็นรอบๆละ 300 คน วันละ 4 รอบ เพื่อลดการแออัดของผู้เข้าร่วม โดยนักศึกษาจะต้องมีการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ส่วนคนทั่วไปลงทะเบียนหน้างาน
– บนเวที ASEAN Night & International Food Festival มีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ แฟชั่นโชว์ชุดประจำชาติของประเทศในอาเซียนที่ผสมด้วยศิลปะการแต่งกายของจีน โดยความร่วมมือของสถาบันขงจื๊อ นำคณะโดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยและกงสุลประเทศเพื่อนบ้านประจำจังหวัดสงขลา นอกจากนั้นจะมีชุดการแสดงของนักศึกษาต่างชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มอาเซียนอีกด้วย