“กาแฟ” นับเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้นิยมดื่มมากเป็นอันดับสองของโลกต่อจากชาเชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักกาแฟเป็นอย่างดีและหลายท่านอาจดื่มกาแฟอยู่เป็นประจำขณะเดียวกันก็คงมีคนเพียงไม่กี่คนที่เคยเห็นกาแฟในฐานะที่เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งหรือสนใจศึกษาถึงประวัติความเป็นมาด้านต่างๆของกาแฟจากอดีตจนถึงปัจจุบันอย่างลึกซึ่งแน่นอนว่าบทความนี้เราจะพาไปเปิดตำนานที่มาของกาแฟในประเทศไทยซึ่งผู้ที่นำเข้ามาในครั้งแรกเป็นพี่น้องมุสลิมในภาคใต้
ตำนานเรื่องเล่าการก่อกำเนิดกาแฟ มีอย่างแพร่หลายและมากมายโดยแหล่งกำเนิดเดิมของกาแฟมาจากประเทศอาบีซีเนียหรือแถบประเทศอาราเบียนหรือประเทศอาหรับตะวันออกกลาง สมัยนั้นไม่มีผู้ใดให้ความสนใจเท่าใดนักจนกระทั่งส่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 9 ได้มีชาวอาราเบียคนหนึ่งชื่อ คาลดี (Kaidi) นำแพะออกไปเลี้ยงตามปกติแพะได้กินผลไม้สีแดงชนิดหนึ่งเข้าไปแล้วเกิดความคึกคะนองผิดปกติจึงได้นำเรื่องไปเล่าให้ผู้นำศาสนาอิสลามขณะนั้นฟังผู้นำศาสนาท่านนั้นจึงได้นำผลของต้นไม้นั้นมากะเทาะเปลือกเอาเมล็ดไปคั่วแล้วต้มในน้ำร้อนดื่ม เห็นว่ามีความกระปรี้กระเปร่าจึงนำไปเล่าให้คนอื่นฟังต่อไปชาวอาราเบียจึงได้เริ่มรู้จักต้นกาแฟมากขึ้นจึงทำให้กาแฟแพร่หลายเพิ่มขึ้นจากประเทศอาราเบียเข้าสู่ประเทศอิตาลีเนเธอร์แลนด์เยอรมันฝรั่งเศสชาวอาระเบียเรียกพืชนี้ว่า “คะวาฮ์” (Kawah) หรือ “คะเวย์” (Kaweh) ซึ่งแปลว่าพลัง (strength) หรือความกระปรี้กระเปร่า (vigor) ชาวตุรกีเรียกว่า “คะเวย์” (Kaweh) ต่อมาการเรียกชื่อกาแฟจึงเปลี่ยนแปลงไปตามแหล่งต่างๆของโลกเช่นคัฟฟ์ (Koffee) ในอังกฤษเรียกว่า “คอฟฟี” (coffee) อันเป็นชื่อที่รู้จักและใช้ในปัจจุบันนี้เมื่อมาถึงประเทศไทยคนไทยเรียกว่าโกปี่ข้าวแฝ่และกาแฟในที่สุด
ส่วนความเป็นมาของกาแฟในประเทศไทยนั้นมีต้นกำเนิดจากที่คนไทยมุสลิมคนหนึ่งชื่อนายตีหมุน ซึ่งตามหนังสือหรือเว็บไซต์ต่างๆได้เล่าไว้ดังนี้นายตีหมุนได้มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองมักกะห์ประเทศซาอุดิอาระเบียได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟมาเพาะปลูกที่บ้านคือ ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ. สงขลาในปี พ.ศ. 2447 กาแฟที่นำมาปรากฏว่าเป็นพันธุ์โรบัสต้าการปลูกได้ผลดีพอสมควรจากนั้นจึงได้มีการขยายพันธุ์และมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้านี้ออกไปอย่างกว้างขวางในภาคใต้ของประเทศไทย
ซึ่งเมล็ดพันธุ์กาแฟที่นำมานั้นเป็นพันธุ์โรบัสต้า หลังจากที่นายหนิตีหมุนเอาเมล็ดพันธุ์กาแฟกลับมาที่บ้านซึ่งอยู่ที่หมู่บ้านห้วยบอน ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ในครั้งแรกนายหนิตีหมุนได้นำเมล็ดพันธุ์มาเพาะใกล้ๆกับบ่อน้ำที่ดินขึ้นๆ พอเมล็ดเริ่มงอกก็ย้ายไปปลูกข้างรั้วซึ่งได้จำนวนหลายต้นเพราะกาแฟเป็นพืชที่ขึ้นง่าย จากนั้นก็ขยายจนกลายเป็นสวน ต่อมาชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยบอนก็นำไปขยายพันธุ์ต่อ
นายหนิตีหมุน สุหลงกุ เสียชีวิตไปเมื่อ พ.ศ. 2519 หรือเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ขณะเสียชีวิตมีอายุได้ประมาณ 80 กว่าปีและได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน หลังจากที่ชาวบ้านใน ต.บ้านโหนด ปลูกกาแฟกันมากขึ้นก็ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชปลูกสลับกลับยางพาราเป็นรายได้สำรองจากการกรีดยางพาราปัจจุบันการปลูกกาแฟในภาคใต้ได้มีการพัฒนาการอย่างมากมายสามารถปลูกเป็นพืชหลักและทำรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้นประมาณ 147,647 ไร่ ดังนั้นกาแฟพันธุ์โรบัสต้าจึงเป็นกาแฟพันธุ์แรกที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 115 ปีที่แล้ว
การเก็บเมล็ดกาแฟจะต้องเก็บในกระสอบป่านเพื่อไม่ให้เกิดความชื้นของเมล็ดกาแฟจากนั้นนำเมล็ดกาแฟมาคั่วกับหมากเปลือกเขียว ข้าวเหนียวดำดิบ โดยส่วนผสมทั้งสามอย่างนี้ คือวิถีเรื่องอาหารประจำหมู่บ้าน ที่ช่วยเพิ่มความหอมในสูตรกาแฟ และในส่วนของหมากจะมีส่วนช่วยในการลดความเปรี้ยวของกาแฟโรบัสต้า
คุณอิสมาแอล์ สารง
สมาชิกครอบครัวนายตีหมุน ตำนานกาแฟอำเภอสะบ้าย้อย