“ยิ่งเครียดก็ยิ่งกิน” อาหารมีอิทธิพลต่อความเครียดอย่างไร?

กรมสุขภาพจิตให้ความหมายว่า ความเครียด เป็นภาวะที่บุคคลรู้สึกถูกกดดัน ไม่สบายใจ วุ่นวายใจ กลัว วิตกกังวล ตลอดจนถูกบีบคั้น เกิดจากการที่บุคคลรับรู้ หรือประเมินสิ่งที่เข้ามาในประสบการณ์ของตนว่าเป็นสิ่งที่คุกคามจิตใจ หรือก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย อันเป็นผลให้สภาวะสมดุลของร่างกายและจิตใจเสียไป ซึ่งมีปฏิกิริยาตอบสนองหลายอย่าง เป็นต้นว่า การใช้กลไกป้องกันตัวเอง การเปลี่ยนแปลงด้านสรีระ ด้านพฤติกรรม ด้านความนึกคิด และด้านอารมณ์ความรู้สึก โดยผลจากความเครียดอาจจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิตที่แย่ลง

“อาหารมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองและส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของคนเรา อาหารหลายๆ ชนิดเกี่ยวข้องกับความเครียด อาการซึมเศร้า หดหู่ใจ อีกทั้งความเครียดและอาหารที่ไม่ดีจะทำให้ระดับสารสื่อสมองลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีความ เครียดมักจะกินอาหารที่เพิ่มความเครียดให้ร่างกาย เช่น อาหารแปรรูปและ junk food ที่จะกระตุ้น sympathetic nerve system ที่จะหลั่ง epinephrine และ nor-epinephrine นอกจากนี้ผู้ที่เครียดจะมีนิสัยการบริโภคที่แย่ลง อาจงดอาหารบางมื้อ ทำให้หิวจัดแล้ว เลือกกินอาหาร fast food ติดกาแฟ หรือใช้กาแฟแก้เครียด แก้ง่วง กระตุ้นความตื่นตัว หรือกินแก้เครียดทำให้น้ำหนักขึ้น”

อาหารต้านความเครียด จึงมีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนเรา ทุคนย่อมมีโอกาสที่จะประสบกับความเครียดได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการทำงาน การเรียนหรือการเจ็บป่วยก็ตาม รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคบางอย่างก็อาจทำให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน นั่นก็ เพราะการขาดสารอาหารบางอย่างเป็นผลให้ร่างกายเกิดความเครียดมากกว่าปกตินั่นเอง และเมื่อเกิดความเครียดแล้ว ก็จะนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานในร่างกายได้ โดยเฉพาะด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า มีอารมณ์ทางเพศลดลงหรือปวดศีรษะแบบเรื้อรัง เป็นต้น จึงมีคำพูดที่ว่า “ยิ่งเครียดก็ยิ่งกิน” นอกจากนี้ความเครียดก็ยังเป็นตัวการที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่ายเช่นกัน

สัญญาณเตือนเมื่อเกิดความเครียด

  • ทางด้านจิตใจ ได้แก่ ความกังวลใจ ความกดดัน ขาดความอดทน อารมณ์แปรปรวนง่าย สับสน ไม่มั่นใจในตัวเองและบุคคลรอบข้าง ขาดความสุข ด้านร่างกายได้แก่ มีอาการปวดหัว ไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อ รู้สึกเมื่อยล้าทั้งที่ยังไม่ได้ใช้แรงร่างกาย มือสั่น ระบบทางเดินอาหารผิดปกติท้องเสียหรือท้องผูก อาหารไม่ย่อย ท้องอืด จุก เสียด แน่นท้อง ความดันโลหิตสูงขึ้น หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หายใจลำบาก แน่นหน้าอก
  • ทางด้านพฤติกรรม อาจมีการบริโภคอาหารมากเกินกว่าปกติ ในบางคนก็ไม่อยากบริโภคอาหาร หาบางสิ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวมากเป็นพิเศษเช่นติดสุรา ติดสารเสพติด นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมชอบโทษตนเอง อารมณ์เสียกับบุคคลรอบข้าง หงุดหงิดโมโหง่ายมีอารมณ์รุนแรง เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีความเครียดเกิดขึ้นแล้ว การที่เราปล่อยให้ความเครียดเกิดขึ้นบ่อยๆ จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรังนั้นจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆตามมา
  • ความเครียดจะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง ประสิทธิภาพการทำงานเปลี่ยนไป ติดเชื้อได้ง่าย และโรคเรื้อรังตามมา เช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคกระดูกและไขข้อ โรคสมองเสื่อมรวมถึงส่งผลต่อการนอนหลับ นอนหลับไม่สนิททำให้รู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่ใช่เพียงโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น
  • ความเครียดนั้นอาจก่อให้ปัญหาในด้านอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุจากการขาดสมาธิ ปัญหาการใช้สมองในการตัดสินใจ และการกระทำอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อตนเอง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องขจัดความเครียดก่อนที่ความเครียดจะทำร้ายเรา ซึ่งอาหารก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยได้

จะเห็นได้ว่าความเครียดส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราไม่น้อยเลย และยังมีความสัมพันธ์กับโภชนาการอีกด้วย อย่างไรก็ตามพบว่าการทานอาหารก็มีผลต่อการเพิ่มและลดความเครียดเช่นกัน เพราะอาหารบางชนิดจะมีผลต่อการทำงานของสมองโดยตรง ดังนั้นหากทานอาหารที่เป็นตัวการสะสมความเครียดในปริมาณมากก็จะยิ่งก่อให้เกิดความเครียดมากขึ้น แต่หากทานอาหารที่ดีและมีส่วนช่วยในการลดความเครียด ก็จะทำให้ความเครียดลดลงไปด้วยนั่นเอง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า อาหารมีผลต่อการเพิ่มและลดความเครียด ซึ่งพบว่าในภาวะที่ร่างกายกำลังเผชิญอยู่กับความเครียดนั้น จะมีความต้องการอาหารประเภทแอนติออกซิแดนท์และสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด รวมถึงแร่ธาตุ บางชนิด เช่น แมกนีเซียม วิตามินบีและสังกะสีอีกด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดความเครียดจึงควรเน้นทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการลดความเครียดเหล่านี้เป็นหลัก โดยเฉพาะผักผลไม้ทั้งหลาย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเครียดได้แล้ว ก็สามารถเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีความแข็งแรงขึ้นได้เช่นกัน