มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่สนับสนุนโรงเรียนปลอดบุหรี่ ลดการติดบุหรี่ของเด็กไทย

ปัจจุบันสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกิดปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ปัญหาที่เร่งแก้ไขนั่นคือ การติดบุหรี่ของเด็กไทย ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่กลุ่มเยาวชน ซึ่งปัญหาการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นพบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มสูบบุหรี่ในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ เกิดจากวัยรุ่นยังมีความเชื่อที่ผิดๆ ขาดความตระหนักในพิษภัยของบุหรี่ จึงเป็นอีกปัญหาที่สมควรจะได้รับการแก้ไขอย่างยิ่ง

ในแต่ละปีประเทศไทยมีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้น 2 แสนคน โดยอายุเฉลี่ยของการติดบุหรี่อยู่ที่ 17 ปีเศษ ซึ่งนักสูบหน้าใหม่เหล่านี้ 70% จะเลิกสูบไม่ได้ไปตลอดชีวิต และนอกจากเสพติดแล้ว ครึ่งหนึ่งของเด็กที่เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ จะป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาด้วยโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ทุกฝ่ายในสังคมไทยจึงต้องร่วมกันรับผิดชอบในการป้องกันเด็กไทยจากการเสพติดบุหรี่ในโอกาสนี้ได้เปิดเผยข้อมูลสำรวจ “โครงการพัฒนามาตรการเฝ้าระวังและจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

ผลสำรวจการเข้าถึงยาสูบของนักเรียนชั้น ม.2 จำนวน 3,982 คนทั่วประเทศ จาก 4 ภาค ผลคือ นักเรียนส่วนใหญ่แม้จะมีทัศนคติไม่ดีต่อการสูบบุหรี่ แต่มีความรู้เรื่องสารพิษในบุหรี่ในระดับต่ำ และรับรู้ความเสี่ยงของการเป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในระดับปานกลาง ขณะที่การเข้าถึงยาสูบยังง่ายมาก โดย 63.75% ซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบจากร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายของชำ โดยที่ 37.20% ไม่เคยถูกปฏิเสธจากร้านค้า 60.13% ซื้อแบบแบ่งขายเป็นมวน มีคำใช้จ่ายในการซื้อยาสูบ เดือนละ 93 บาท 30.63% ขอจากเพื่อน หรือขอซื้อต่อจากเพื่อน ทั้งนี้ยังพบว่า 41.06% สูบในบ้านหรือบ้านเพื่อน 46.35% มีความคิดที่จะเลิกแต่ไม่เคยลงมือเลิก

ด้านคุณสุวิมล จันทร์เปรมปรุง ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า  เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ ทำให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหาการสูบบุหรี่ของเยาวชนด้วยมุมมองใหม่ว่า “การป้องกันเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่ ง่ายกว่าทำให้เยาวชนเลิกสูบบุหรี่” ผ่าน7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่” เป็นเครื่องมือสำคัญ ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 การกำหนดนโยบาย “โรงเรียนปลอดบุหรี่”

มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการเพื่อ “โรงเรียนปลอดบุหรี่”

มาตรการที่ 3 การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อ “โรงเรียนปลอดบุหรี่” ตามกฎหมาย

มาตรการที่ 4 การสอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการจัดการเรียนรู้

มาตรการที่ 5 การมีส่วนร่วมของนักเรียนเพื่อการขับเคลื่อน “โรงเรียนปลอดบุหรี่”

มาตรการที่ 6 การดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่

มาตรการที่ 7 การมีกิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน

ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิด “เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่” เพื่อให้เกิดแกนนำครูที่มีความรู้ ความตระหนักต่อความสำคัญของการทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการพัฒนาและยกระดับนวัตกรรมการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมกับกลุ่มเป้าหมายเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ที่เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ได้สร้างไว้