การพูดนั้นสิ่งสำคัญ ต้องพูดแล้วไม่เดือดร้อนผู้อื่นหรือไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน ต้องตระหนักอยู่เสมอก่อนพูด ว่าคำพูดที่พูดออกไปนั้นจะ “หมิ่นประมาท” หรือไม่?
กรณี “หมิ่นประมาท” นอกจากจะมีความผิดทางอาญาแล้ว ผู้กระทำผิดยังต้องรับผิดทางแพ่งซึ่งต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายอีกกรณีหนึ่งพร้อม ๆ กัน โดยจะแยกพิจารณาให้เห็นความรับผิดเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทดังต่อไปนี้
ความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ บัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จากบทบัญญัติดังกล่าวมีองค์ประกอบของความผิด คือ
๑.๑ ผู้กระทำผิดหรือผู้หมิ่นประมาท ในที่นี้เป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
๑.๒ ใส่ความ หมายถึง การยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นความจริงก็ได้หรือเป็นความเท็จก็ได้ แม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินมาให้กับบุคคลอื่นฟังก็อยู่ในความหมายของคำว่า “ใส่ความ” เพราะฉะนั้นการใส่ความจึงไม่จำกัดวิธี อาจเป็นการใช้คำพูด ให้ความหมายหรือแสดงกิริยาอาการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือใช้ภาษาใบ้ สัญญาลักษณ์ต่าง ๆ กล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ถูกลดคุณค่าลง ถูกเกลียดชัง ถูกดูหมิ่น เช่น การแอบถ่ายคนที่ร่วมประเวณีกันแล้วนำภาพเหล่าไปให้บุคคลอื่นดู ย่อมเป็นการใส่ความและน่าจะทำให้เกิดความเสียชื่อเสียง หรือนำไปเล่าให้ผู้อื่นฟัง ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ แต่หากการใส่ความนั้น เป็นเพียงคำหยาบ คำกล่าวถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็ดี การกล่าวข้อความที่มีลักษณะคลุมเครือยังไม่ชัดเจน
จากแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอาจแยกการใส่ความออกดังนี้
(ก)การใส่ความเกี่ยวกับความประพฤติ
(ข)การใส่ความเกี่ยวกับเรื่องประเวณีหรือความประพฤติที่ไม่เหมาะสมหรืออันควรทางเพศ
(ค)เป็นการใส่ความเกี่ยวกับหน้าที่การงาน
(ง)เป็นการกล่าวถึงความไม่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจการเงินหรือทางสังคม
๑.๓ ต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม คำว่า “ผู้อื่น” จะเป็นใครก็ได้อาจจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กลุ่มคนที่อยู่รวมกันก็ได้ซึ่งต้องทราบว่าหมายถึงใคร แต่ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อ เช่น กล่าวต่อผู้อื่นว่า “พระวัดนี้ดูหนัง พระวัดนี้เลวมาก ดูหนังบ้าง บ้าผู้หญิงบ้าง พระวัดนี้เลวที่สุดไม่มีศิล ผมไม่ไหว้ กรณีนี้เป็นกรณีหมิ่นประมาทพระทั้งวัด
๑.๔ ต้องใส่ความต่อบุคคลที่สาม ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะสำเร็จก็ต่อเมื่อบุคคลที่สามได้ทราบข้อความและเข้าใจข้อความ ดังนั้น ถ้าบุคคลที่สามไม่ได้รับทราบข้อความหรือหูหนวกหรือไม่รู้เรื่องหรือเป็นชาวต่างประเทศที่ไม่เข้าใจภาษา ก็เป็นความผิดเพียงฐานพยายามหมิ่นประมาท จะรับโทษเพียงหนึ่งในสาม ของโทษที่ศาลกำหนด
๑.๕ โดยประการที่น่าจะต้องทำให้ผู้อื่น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง องค์ประกอบนี้เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำต้องวินิจฉัยตามความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไปมิใช่ของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ แต่ถ้าเป็นข้อความสามัญ ศาลจะวินิจฉัยได้เอง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นจริง
๑.๖ เจตนาที่จะใส่ความ หากไม่มีเจตนาที่จะใส่ความก็ไม่ผิด กล่าวคือ จะต้องรู้สำนึกในการกระทำผิดของตนขณะที่พูดว่าข้อความที่พูดนั้นทำให้ผู้อื่นเสียหายหรืออาจได้รับความเสียหาย
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๖ นี้ เป็นหลักของเรื่องการหมิ่นประมาททั่วไป ถ้าหากผู้พูดได้ใส่ความผู้ตายหรือผู้ที่ไม่มีชีวิต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๗ บัญญัติว่า”ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดามารดา คู่สมรสหรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น” มาตรา ๓๒๗ นี้เป็นเรื่องใส่ความผู้ตาย แต่เป็นเหตุให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับความเสียหาย เช่น นายแดงถึงแก่ความตาย นายดำไปงานศพนายแดงแล้วพูดกับนายขาวว่า ขณะที่นายแดงมีชีวิตอยู่นายแดงได้คดโกง กินสินบน ทุจริตต่อหน้าที่ การกล่าวเช่นนี้อาจทำให้บิดา มารดา คู่สมรสหรือบุตรของนายแดงได้รับความเสียหาย นายดำมีความผิดตามมาตรา ๓๒๗ นี้ได้
ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นความผิดอันยอมความได้ ตามมาตรา ๓๓๓ กล่าวคือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้หมิ่นประมาทกับผู้ถูกหมิ่นประมาทตกลงกัน ยอมความกัน ไม่เอาความต่อกัน หรือให้อภัย ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม กฎหมายถือว่าความผิดหมิ่นประมาทนั้นเป็นอันยุติ ศาลหรือเจ้าพนักงานตำรวจต้องยุติกระบวนการดำเนินคดีในความผิดหมิ่นประมาท และไม่ถือว่าผู้หมิ่นประมาทเคยกระทำผิดมาก่อนแต่อย่างใด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หลังจากได้กล่าวถึงความรับผิดในทางอาญาของผู้หมิ่นประมาทแล้ว ผู้หมิ่นประมาทยังต้องรับรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๓ บัญญัติว่า “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่เป็นจริง แต่หากควรจะรู้ได้” หรือเรียกว่า “หมิ่นประมาททางแพ่ง” เป็นการละเมิดด้วยคำพูด ด้วยลมปาก ทำให้เสียหายแก่เกียรติยศชื่อเสียงอันเป็นนามธรรม ซึ่งผู้หมิ่นประมาทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดแก่ผู้ถูกละเมิดหรือผู้ถูกหมิ่นประมาทตามพฤติการณ์และความเสียหายที่เขาได้รับจากการกล่าวหรือไขข่าวนั้น
อย่างไรก็ตามในการหมิ่นประมาททางแพ่งนั้น ผู้กล่าวหรือไขข่าวหาจำต้องรับผิดเสมอไปไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิด ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔๒๓ วรรคสอง “ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้วท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”
โดยสรุปในความรับผิดและข้อยกเว้นความรับผิดหมิ่นประมาททางแพ่งอาจดังนี้
ก.ผู้ก่อความเสียหาย “รู้” ว่าไม่จริงแล้วยังพูด = จงใจ
ข.ถ้าผู้ก่อความเสียหาย “ไม่รู้ แต่ควรรู้ได้”แล้วยังพูด = ประมาทเลินเล่อ
ค.ถ้าผู้ก่อความเสียหาย “ไม่รู้ และไม่ควรรู้ได้” แล้วพูด = ไม่จงใจ ไม่ประมาท
กรณี ก. ข. ต้องรับผิด ส่วนกรณี ค. ไม่ต้องรับผิด
ติดตามรายการ “รู้กฎหมายง่ายนิดเดียว” ได้ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 11.00 – 11.30 น. ทางสถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่ FM 88.0 MHz