เต่าทะเลมีความสำคัญและเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยา แต่ในปัจจุบันพบว่าเต่าทะเลทั่วโลกมีจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น สภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประมงชายฝั่ง หรือ ขยะทะเล ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อไข่เต่าอีกด้วย เช่น การขโมยไข่เต่าทะเลจากทั้งคนและสัตว์ชนิดต่างๆ ดังนั้นจึงได้กำหนด “วันเต่าทะเลโลก (World Sea Turtle Day)” ขึ้น เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของเต่าทะเล ปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมอนุรักษ์เต่าทะเล รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอีกด้วย
เต่าตนุ เป็นเต่าที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร หากพบเต่าตนุน้อยลง แสดงว่าบริเวณนั้นหญ้าทะเลน้อยลง หรือแนวหญ้าทะเลบริเวณนั้นเกิดการเสื่อมโทรม หากเต่าทะเลไม่ว่าชนิดใดก็ตามสูญพันธุ์ จะส่งผลให้ระบบนิเวศสูญเสียความสมดุลไปด้วย
คุณหิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานสัตว์ทะเลหายาก ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และอาจารย์พิเศษ าควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.
โดยปกติเต่าทะเลมักอาศัยอยู่ในเขตโซนร้อนหรือกึ่งโซนร้อน เต่าทะเลมักอพยพมาที่แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และแหล่งวางไข่ที่ดี โดยปกติเต่าตัวผู้จะอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง แนวปะการัง สำหรับในน่านน้ำไทยพบมากถึง 5 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน โดยในปัจจุบันเต่ามะเฟืองได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน ส่วนเต่าทะเลอีก 4 ชนิดอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และด้านกรมประมงได้ออกกฎห้ามทำการประมงอวนลากใกล้ชายฝั่งในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง โดยเพิ่มกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลมากขึ้น และแหล่งวางไข่เต่าทะเลหลายแห่งได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล
สาเหตุของการลดลงของเต่าทะเลมีหลายประการ เช่น การลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล การติดเครื่องมือประมงทั้งที่ไม่เจตนาและโดยเจตนา เช่น ทำการประมงอวนลาก อวนลอย และเบ็ดราว บริเวณชายฝั่งหน้าแหล่งวางไข่เต่าทะเล หรือ แหล่งหาอาหารของเต่าทะเล โดยเฉพาะในช่วงฤดูการวางไข่เต่าทะเล การบุกรุกทำลายแหล่งแพร่ขยายพันธุ์ของเต่าทะเล สภาพแวดล้อมชายฝั่งเสื่อมโทรม และขยะทะเล ที่เป็นปัจจัยหนึ่งของการสูญเสียเต่าทะเล โดยสาเหตุของขยะทะเลคือขยะบนบกหรือขยะครัวเรือนนั่นเอง