“สารสไตรีนโมโนเมอร์” จากเหตุโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ‘กิ่งแก้ว21’ ระเบิด

เหตุการณ์ ‘โรงงานโฟมระเบิด’ ที่ ‘กิ่งแก้ว21’ สมุทรปราการ นอกจากผู้บาดเจ็บจำนวนมากแล้ว ยังมีความกังวลต่อ ‘สารสไตรีนโมโนเมอร์’ ที่รั่วไหลออกมา ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและถึงแก่ชีวิตได้

จากเหตุโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ‘กิ่งแก้ว21’ ระเบิด เป็นโรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นการระเบิดของถังบรรจุเคมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ไฟลุกท่วมเจ็บนับสิบ เพลิงไหม้วอด ขณะเดียวกัน แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนเสียหายเป็นวงกว้าง กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย สั่งประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงานดังกล่าวในรัศมี 5 กิโลเมตร อพยพด่วน เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ และหวั่นไฟลามไปติดถังสารเคมี 20,000 ลิตร ที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้ยังมีความกังวลเรื่อง ‘สารสไตรีนโมโนเมอร์’ เป็นสารตั้งต้นถังเก็บถูกไฟไหม้และระเบิด กระจายออกไปโดยรอบถึง 10 กิโลเมตร

  • สารสไตรีนโมโนเมอร์ คืออะไร 

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว  Sonthi Kotchawat โดยระบุถึงเหตุการ ‘โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้’ และสารสไตรีนโมโนเมอร์ ว่า สารสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นของเหลวใสและข้นเหนียว สูตรทางเคมี C8H8 , CAS #. 100-42-5 น้ำหนักโมเลกุล 104.16 ถ้าสารมีอุณหภูมิ 31°C (88°F) ขึ้นไป จะติดไฟและกลายเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หากถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) จำนวนมากอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

  • การใช้งาน

1. ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์ และพลาสติก เรซิน สี ฉนวนที่เป็นโฟม2. ใช้ผลิตพลาสติกกับสารอื่น เช่น Acrylonitrile- butadiene- styrene plastics3. ใช้ทำกระเป๋าแบบแข็ง Acrylonitrile- styrene plastics4. ใช้ในชิ้นส่วนรถยนต์และของใช้ในบ้านและบรรจุภัณฑ์

  • ผลต่อสุขภาพ
  1. เป็นสารระเหย แม้อยู่ในน้ำหรือดิน การปนเปื้อนในดินอาจนำไปสู่น้ำใต้ดินเพราะสารนี้ไม่ค่อยจับตัวกับดิน
  2. ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายระบบทางเดินหายใจ และคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา
  3. ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้
  4. การหายใจเข้าไปในระยะนานๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง
  5. ส่วนผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ถ้าเข้าตา จะเคืองตา
  6. ถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้ง แตก
  • หลักการปฐมพยาบาล

1. ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ผิวหนัง ให้ล้างผิวหนังบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุด เพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีเป็นกรดให้รีบถอดเสื้อผ้าออกก่อน 

2. ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที ป้ายขี้ผึ้งป้ายตา แล้วรีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว 

3. ผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีในการสูดดม ให้ย้ายผู้ที่ได้รับสารไปที่อากาศบริสุทธิ์ ประเมินการหายใจ และการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ทำการ CPR 

  • กรณีเกิดเพลิงไหม้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ระบุใน คู่มือการจัดการสารเคมีอันตรายสูง ทั้งกรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย และกรณีเพลิงไหม้รุนแรง ดังนี้ 

 
กรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย
ใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ โฟม (Regular foam) หรือฉีดน้ำเป็นฝอย

กรณีเพลิงไหม้รุนแรง

1. ใช้ผงเคมีแห้ง คาร์บอนไดออกไซด์ หรือโฟมดับเพลิง และให้ฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อหล่อเย็นให้กับถังเก็บ

2. ห้ามใช้น้ำฉีดไปยังบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเพลิงมากขึ้น

3. หากกระทำได้ให้เคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุที่ยังไม่เสียหายออกจากบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้

4. ให้รายงานแจ้งเหตุ และปฏิบัติตามแผนตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

5. แจ้งเหตุการณ์เกิดเพลิงไหม้ไปยังโรงงานข้างเคียง เพื่อป้องกันเหตุหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเพลิงไหม้

6. ในกรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เป็นต้น เพื่อขอความช่วยเหลือในการควบคุมสถานการณ์

ขอบคุณข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *