ทำความรู้จักตัวเองกับ นพลักษณ์ (Enneagram) ศาสตร์โบราณกับความแตกต่างของมนุษย์

เคยสงสัยกันมั้ย ว่าในชีวิตที่ผ่านมา คนที่เรารู้จักมากมาย ทำไมจึงแตกต่างกัน ความเข้าใจเรื่อง บุคลิกภาพแบบ นพลักษณ์ หรือ Enneagram คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยการเข้าใจความแตกต่างของคน แยกแยะได้ 9 บุคลิกภาพ หรือ 9 ลักษณ์ คำนี้มาจากคำ Enneagram โดย Ennea แปลว่า เก้า Gram แปลว่า สิ่งที่เขียนหรือวาดหรือบันทึกไว้ วิชานี้มาจากศาสตร์โบราณ ในตะวันออกกลาง เชื่อว่าครูผู้สอนศาสนาจะถ่ายทอดคำสอนให้คนอื่นได้ดีนั้น จะต้องเข้าใจบุคลิกภาพของคนซึ่งมีความแตกต่างกัน

การสอนจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับคนแต่ละคนด้วย นักบวชที่จะสอนคนอื่นได้ จึงต้องเรียนเรื่อง Enneagram เรียกว่าเป็นวิชาพื้นฐานของการเป็นครูก็ว่าได้ ต่อมา ดร. เฮเลน พาล์มเมอร์ (Helen Palmer) นักจิตวิทยาตะวันตกยุคใหม่ ได้สนใจศึกษาเรื่องนี้ และเขียนหนังสือเผยแพร่ในวงการจิตวิทยา มีคนติดตามและนำไปใช้ พบว่าเป็นจริงในคนเชื้อชาติต่างๆทั่วโลก ในประเทศไทย มีคนที่สนใจและนำไปใช้ ในการรู้จักตนเอง รู้จักผู้อื่น พัฒนาบุคลิกภาพและการทำงานร่วมกัน “นพลักษณ์” เชื่อว่า “ลักษณ์” ทั้ง 9 แบบนี้ มีลักษณะเด่น และข้อด้อย ที่พัฒนาได้ เราสามารถรู้ได้ว่าเป็นลักษณ์ใด โดยใช้แบบประเมินตนเองที่มีเผยแพร่ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต หรืออ่านรายละเอียดของทั้ง 9 ลักษณ์ แล้วประเมินตนเองได้ว่าเป็นลักษณ์ใด

มาดูกันดีกว่าว่าคุณอยู่ในลักษณ์ไหน แล้วแต่ละลักษณ์แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

  • บ้านด้านบน (8,9,1) จะเป็นบ้านที่เน้นการกระทำ การลงมือลงแรง บ้านกาย
  • บ้านขวาล่าง (2,3,4) จะเป็นบ้านของอารมณ์ ความรู้สึก บ้านของหัวใจ
  • บ้านซ้ายล่าง (5,6,7) จะเป็นบ้านของความคิด บ้านของสมอง

ลักษณ์ 1 : ผู้ชอบความสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist)

มีความยุติธรรม ทุ่มเทไปกับทุกสิ่ง เข้มงวด ซื่อสัตย์มีความรับผิดชอบสูง เคร่งเครียด หงุดหงิดเมื่อเจอคนไม่จริงจัง ไม่ชอบคนทำผิด และอาจแสดงอารมณ์ไม่พอใจออกมาง่าย

ลักษณ์ 2 : ผู้ให้ (The Giver)

ชอบช่วยเหลือ ชอบสนับสนุน ชอบทำให้คนสมหวัง มีความสุขที่ได้ให้ อบอุ่น ใจกว้าง เข้าใจความรู้สึกคนอื่นได้ดี จนในบางครั้งอ้อมค้อมเกินไป สนใจผู้อื่นเกินไป แสดงความรู้สึก หรือพยายามเป็นเจ้าของคนอื่นมากเกินไป

ลักษณ์ 3 : ผู้ไขว่คว้าในความสำเร็จ (The Performer)

ชอบการแข่งขัน ศรัทธาในความสำเร็จ ชอบการลงมือทำ ขยัน ตั้งใจ มีพลัง มีความรับผิดชอบ แต่บางครั้งก็เสพติดการแข่งขันเกินไป ทะเยอทะยานเกินไป เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จนอาจฉวยโอกาสให้ตัวเอง

ลักษณ์ 4 : ศิลปิน (The Romantics)

คนที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ เป็นตัวของตัวเอง จินตนาการล้ำ ความคิดสร้างสรรค์มีความอ่อนไหว อ่อนโยน ชอบเป็นตัวเอง แต่มักจะมาพร้อมอารมณ์ติสท์ คาดเดาไม่ได้ ใช้อารมณ์นำ เจ็บปวดทางใจง่าย

ลักษณ์ 5 : นักคิด นักสำรวจ (The Observer)

ชอบใช้เหตุผล มีความแน่วแน่ ฉลาด ไหวพริบดี ชอบการศึกษา ค้นหาข้อมูล จนในบางครั้งมองโลกในแง่ลบเกินไป ตัดสินหรือตำหนิคนอื่น

ลักษณ์ 6 : ผู้จงรักภักดี (The Guardian)

ชอบวางแผน ซื่อตรง ซื่อสัตย์ เอาใจใส่ เห็นอกเห็นใจ เป็นผู้สนับสนุนที่ดี น่าเชื่อถือ บางครั้งอาจจะหวาดระแวงไปบ้าง ไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควร

ลักษณ์ 7 : นักผจญภัย (The Optimist)

เป็นกลุ่มคนที่มีพลังสูง รักสนุก ชอบท่องเที่ยว เดินทาง ชอบใช้ชีวิต ชอบสัมผัสสรรพสิ่งด้วยความรู้สึกของตัวเอง ไม่ชอบการถูกตีกรอบ

ลักษณ์ 8 : ผู้นำ (The Leader)

มั่นใจในตัวเอง กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ปกป้องคนอื่นได้ ใจกว้าง เฉียบขาด อาจจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางบ้าง หรือชอบการต่อสู้ถกเถียงมากจนเกินไป อาจจะขาดความละเอียดอ่อนในบางที

ลักษณ์ 9 : ผู้รักสันติสุข (The Peacemaker)

ชอบความสงบ รักความสามัคคี ชอบเข้าไปแก้ปัญหา ชอบช่วยเหลือ เปิดกว้าง เกลียดความขัดแย้ง มีความอดทนสูง เป็นสายไม่เป็นอะไร สายประนีประนอม ดื้อเงียบบ้าง หรือบางครั้งยอมคนอื่นมากไป

ลักษณ์ทั้ง 9 แบบนี้ จะพัฒนาขึ้นในเด็กตั้งแต่อายุน้อยไปเรื่อยๆ เห็นชัดเจนขึ้นในวัยรุ่น และเป็นแบบหนึ่งแบบใดเมื่อพ้นวัยรุ่น คืออายุประมาณ 18 ปีไปแล้ว หลังจากนั้นแต่ละคนจะมีบุคลิกภาพเป็นแบบลักษณ์นั้นๆ ไปตลอดชีวิต แต่ละลักษณ์มีจุดแข็งของตัวเอง แต่ก็มีจุดอ่อนที่อาจกลายเป็นปัญหาในการปรับตัว คนที่สนใจพัฒนาตนเอง เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อลดจุดด้อยของตัวเอง คนที่ฝึกลักษณะของลักษณ์อื่นได้ เรียกว่า ลักษณ์ที่พัฒนาแล้ว เช่น คนลักษณ์ 5 (นักคิด) สามารถฝึกตนเองให้มีความเป็นผู้นำของลักษณ์ 8 (ผู้นำ) ในชีวิตจริงเราจึงเห็นคนที่มีบุคลิกภาพผสมระหว่างหลายลักษณ์ได้

แต่เชื่อว่าในแกนของบุคลิกภาพนั้นจะมีลักษณ์เดียว ที่เหลือเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมในเวลาต่อมา การรู้จักลักษณ์ตนเองนี้จึงช่วยให้รู้จุดแข็งจุดอ่อน และเข้าใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างกัน สามารถปรับตัวเข้าหากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุข และสามารถพัฒนาตนเองต่อไป วางแผนล่วงหน้าได้เมื่อต้องติดต่อกับคนลักษณ์อื่น ควรจะทำตัวอย่างไร นำไปปรับใช้กับการสร้างความสัมพันธ์ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ลูกน้อง เจ้านาย และผู้ที่เราต้องสัมพันธ์ด้วย

เมื่อรู้จักตัวเองและคนอื่นได้ลึกโดยนพลักษณ์แล้ว จะเกิดความเข้าใจ ยอมรับ รู้วิธีอยู่ร่วมกับคนที่ไม่เหมือนตัวเรา ช่วยให้ปรับตัวเข้าหากันได้ง่ายขึ้น และมีความสุขร่วมกับคนที่แตกต่างจากเรานั่นเอง

หากใครสนใจอยากค้นหานพลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเอง ลองค้นหา ‘แบบทดสอบนพลักษณ์’ แล้วเลือกรูปแบบที่ตัวเองชอบก็ได้ หรือจะลองเข้าไปทำแบบทดสอบนพลักษณ์ที่ลิงค์นี้ก็ได้เช่นกัน https://bit.ly/3fPoHdA 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *