SH&E PSU EP5 : กฎกระทรวงแผนอัคคีภัย

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 เป็นกฎหมายอยู่ภายใต้ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 โดยกำหนดให้ในสถานประกอบกิจการทุกแห่ง ให้นายจ้างจัดทำป้ายข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการดับเพลิงและการอพยพหนีไฟ และปิดประกาศให้เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 ขึ้นไป นายจ้างต้อง จัดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยไว้ด้วย และพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยทำการตรวจสอบได้ ประกอบด้วย  การตรวจตรา  การอบรม การรณรงค์ป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง การอพยพหนีไฟ และการบรรเทาทุกข์ โดยจัดเก็บแผนดังกล่าวให้สามารถตรวจสอบได้

แผนป้องกันและระงับอัคคีภัยก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ ประกอบด้วย แผนป้องกันอัคคีภัยต่าง ๆ 3 แผน

  • แผนการตรวจตรา เป็นแผนการสำรวจความเสี่ยงและตรวจตรา เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และขจัดต้นเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ โดยให้มีกำหนดบุคคลและพื้นที่ที่รับผิดชอบ ตรวจตราจุดเสี่ยงต่าง ๆ เช่น จุดที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ จุดที่มีการใช้และเก็บวัตถุไวไฟ จุดที่เก็บของเสียติดไฟง่าย จุดที่อาจก่อกำเนิด เชื้อเพลิง    จุดที่เป็นแหล่งความร้อนต่าง ๆ จุดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและสภาพของอุปกรณ์ และทางหนีไฟ
  •  แผนการอบรม เป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงด้านการเกิดอัคคีภัย โดยการให้ความรู้กับบุคลากรด้านการป้องกันและการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุ แผนการอบรม ควรประกอบด้วย การฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น การฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ การปฐมพยาบาล และการช่วยชีวิต
  •  และแผนการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัย เป็นการสร้างความสนใจ และสร้างความตระหนักในอันตรายและผลกระทบจากการเกิดเพลิงไหม้ ในการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยอาจดำเนินการได้หลายรูปแบบ เช่น การทำแผ่นพับ ใบปลิว การจัดนิทรรศการรณรงค์  การจัดทำโปสเตอร์ใช้สื่อต่างๆ การกำหนดมาตรฐานการลงโทษ เช่น เรื่องการสูบบุหรี่ ห้ามจัดเก็บสารไวไฟในอาคาร

แผนป้องกันและระงับอัคคีภัย

  • ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม จะประกอบด้วย แผนเกี่ยวกับการดับเพลิง และลดความสูญเสีย โดย ประกอบด้วยแผนต่าง ๆ 2 แผน คือ

  – แผนการดับเพลิง เพื่อกำหนดบุคคลที่ต้องปฏิบัติภารกิจในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ อย่างชัดเจน และกำหนดขั้นตอนการดับเพลิง ให้มีการปฏิบัติตามแผนเพื่อให้เกิดความเสียหายจากเพลิงไหม้ น้อยที่สุด แผนการดับเพลิงแบ่งเป็น 2 แผนย่อย ได้แก่ แผนดับเพลิงขั้นต้น และแผนดับเพลิงขั้นรุนแรง

  – และแผนอพยพหนีไฟ กำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากร ในขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ แผนอพยพหนีไฟที่กำหนดขึ้นนั้น ควรมีองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น หน่วยตรวจสอบจำนวนคน ผู้นำอพยพ จุดรวมพล หน่วยช่วยชีวิต และหน่วยยานพาหนะ เป็นต้น ควรกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละหน่วยงานโดยขึ้นตรงต่อ ผู้อำนวยการอพยพหนีไฟ หรือ ผู้อำนวยการดับเพลิง

  • หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ จะประกอบด้วยแผนที่จะต้องดำเนินการเมื่อเหตุเพลิงไหม้สงบลงแล้ว คือ แผนบรรเทาทุกข์ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจากภาวะเกิดเหตุเพลิงไหม้ •เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการช่วยชีวิต การเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ การดูแล ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต ประเมินความเสียหาย รายงานสถานการณ์เพลิงไหม้ และการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ประสบภัย แผนบรรเทาทุกข์ จะประกอบด้วย •การประสานกับหน่วยงานของรัฐ •การสำรวจความเสียหาย •การรายงานตัวของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และกำหนดจุดนัดพบเพื่อรอรับคำสั่ง •การช่วยชีวิตและการขุดค้นหาผู้เสียชีวิต •การเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ทรัพย์สินของผู้เสียชีวิต •การประเมินความเสียหาย ผลการปฏิบัติงานและรายงานสถานการณ์เพลิงไหม้ •การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ประสบภัย •การปรับปรุงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้สถานประกอบกิจได้เปิดทำการได้โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้สถานประกอบการต้องจัดให้มีเส้นทางหนีไฟทุกชั้นของอาคารอย่างน้อยชั้นละสองเส้นทางสามารถอพยพ ลูกจ้างที่ทำงานสู่จุดที่ปลอดภัยได้โดยปลอดภัย ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที ประตูเส้นทางหนีไฟให้ติดอุปกรณ์แบบบังคับเปิดปิดได้เอง ห้ามใช้ประตูบานเลื่อน ประตูม้วน หรือประตูหมุน ห้ามปิดตายแบบใส่กลอน ใส่กุญแจ ผูกหรือล่ามโซ่ หรือทำให้เปิดออกไม่ได้ขณะที่ลูกจ้างทำงาน  ประตูทางหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนไฟ ไม่มีธรณีประตูหรือขอบกั้น

สถานประกอบกิจการที่มีอาคารตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป หรือมีพื้นที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทุกชั้นอาคาร ต้องจัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ สำหรับเส้นทางหนีไฟในการอพยพลูกจ้างออกจาก อาคารหนีไฟ และมีแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรอง ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเพื่อการหนีไฟ และใช้กับอุปกรณ์ ดับเพลิงขั้นต้น หรืออุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้องเมื่อไฟฟ้าดับ

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *