“ปาดตะปุ่มผิวเรียบ” ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ด้านระบบนิเวศ เขาคอหงส์ จ.สงขลา

ดร. ยิ่งยศ ลาภวงศ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปาดตะปุ่มผิวเรียบ หรือปาดตะปุ่มหลังเรียบ พบได้ในประเทศมาเลเซียและพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยในพื้นที่ป่าที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เช่น เขาหลวงนครศรีธรรมราช และป่าฮาลา-บาลา และป่าที่จังหวัดนราธิวาส ปาดตะปุ่มผิวเรียบมีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่ในโพรงต้นไม้ที่มีน้ำขัง หรือตามซอกกาบใบของพืชต่างๆ ใช้โพรงต้นไม้นี้ในการวางไข่ เลี้ยงดูลูกอ๊อด โดยปาดชนิดนี้เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ ส่วนด้านของระบบนิเวศมีบทบาทเป็นผู้บริโภคซึ่งจะกินแมลงเป็นอาหารคล้ายกับกบทั่วไป แต่จะมีความแตกต่างในเรื่องพื้นที่อาศัย โดยปาดมักอาศัยตามต้นไม้เป็นผลให้ระบบนิเวศมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

สำหรับการค้นพบปาดตะปุ่มผิวเรียบครั้งนี้ เกิดจากการนำนักศึกษารายวิชาชีววิทยาภาคสนาม ไปสำรวจสิ่งมีชีวิตและเก็บข้อมูลทางด้านชีววิทยาในพื้นที่เขาคอหงส์ยามค่ำคืน ซึ่งมีนักศึกษาคนหนึ่งพบกบตัวขนาดเล็กชนิดหนึ่งอยู่บนโพรงต้นไม้ จึงได้แจ้งอาจารย์เข้าไปดูปรากฎว่าเป็นปาดตะปุ่มเรียบ ซึ่งไม่เคยพบเจอสายพันธุ์นี้ในพื้นที่จังหวัดสงขลาจึงได้ถ่ายรูปแล้วทำการเก็บข้อมูล จากนั้นจึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าได้พบเจอปาดสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรกบนเขาคอหงส์ 

สำหรับพื้นที่ปกปักพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตบริเวณเขาคอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภายใต้การดูแลของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี เดิมเป็นพื้นที่ป่าผสมสวนยางพาราเก่า จากนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เข้ามาดูแลและเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพ โดยการปล่อยให้ป่าได้ฟื้นฟูกลายเป็นป่าธรรมชาติ ซึ่งการพบปาดตะปุ่มผิวเรียบ โดยก่อนหน้านี้ได้พบสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด ได้แก่ งูพงอ้อ งูขนาดเล็กและไม่มีพิษ และงูสายไหม้ สะท้อนให้เห็นว่าป่าบนเขาคอหงส์เริ่มฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์ นับเป็นความสำเร็จประการหนึ่งในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าแห่งนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *