มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในเวที Thailand Research Expo 2022

เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network: RUN) นำผลงานวิจัยจาก 8 มหาวิทยาลัย มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ครั้งที่ 17” เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีส่วนร่วมในการชูผลงานวิจัยเด่น ตอบโจทย์แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ผศ.ดร.พลชาติ โชติการ รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในปีนี้งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ปี 2565 หรือ Thailand Research Expo ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ร่วมจัดงานภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการในนามของ RUN (Research University Network) โดยพันธกิจหลักของ RUN คือ มุ่งเน้นการประสานความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และสร้างขีดความสามารถทางการศึกษา วิจัยและพัฒนา ของประเทศและยกระดับสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมหาวิทยาลัยในโครงการ ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร

รวมทั้งประสานความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย บัณฑิตศึกษา นักศึกษาและบุคลากรทางการวิจัยในการร่วมกันดำเนินงานทางด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนและใช้ทรัพยากร ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในระหว่างพันธมิตรการวิจัย รวมถึงสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชนหรือเครือข่ายอื่น ๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่สังคม ภาคผลิตและภาคบริการ  

โดยผลงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้นำเสนอประกอบด้วย “วัสดุหมุนเวียนยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก เพื่อการใช้ยางธรรมชาติอย่างยั่งยืน” และ “การวิจัยการพัฒนาการผลิตปูทะเลตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างจังหวัดชายแดนใต้สู่เมืองปูทะเล” อีกทั้งยังมีคลัสเตอร์งานวิจัยด้านพลังงาน ได้แก่ เทคโนโลยีห้องรมควันคุณภาพสูงอัตโนมัติสำหรับสหกรณ์กองทุนสวนยาง ทั้งนี้ผลงานวิจัยต่างๆของมหาวิทยาลัยฯ ที่สามารถใช้ประโยชน์ ต่อยอด และสร้างอิมแพคได้อย่างชัดเจน สามารถยกระดับเศรษฐกิจ ชุมชนและสังคมให้ได้

โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คว้า 5 รางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2565 ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 : Thailand Research Expo 2022” เมื่อวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ดังนี้

1. รางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรม ระดับบัณฑิตศึกษา ระดับดีมาก ประจำปี 2565 ผลงานนวัตกรรม “อุปกรณ์สำหรับตรวจฟอร์มัลดีไฮด์ที่ปนเปื้อนในอาหารแบบพกพา” ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดย นายอัสมี สอและ นางสาวกัสริน สายสหัส นางสาวเจนจิรา สายชนะพันธ์ นายกฤษฎา สโมสร Mr. Sangay Wangchuk และ Mr. Phua Cheng Ho

2. รางวัลเหรียญเงินด้านพลังงาน ระดับบัณฑิตศึกษา ให้กับผลงานนวัตกรรม “อุปกรณ์สำหรับตรวจฟอร์มัลดีไฮด์ที่ปนเปื้อนในอาหารแบบพกพา” ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์

3. รางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรม ระดับปริญญาตรี ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 ให้กับผลงานนวัตกรรม “เซนเซอร์ทางเคมีไฟฟ้าสำหรับตรวจวัดตะกั่วเพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ” ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy model โดย นางสาวเสาวลักษณ์ โชคชูลี นางสาวสลินดา บิลยะแม นายอัสมี สอและ นางสาวกัสริน สายสหัส นางสาวสุนิตา สมศิริ นางสาวเจนจิรา สายชนะพันธ์ Mr. Sangay Wangchuck

4. รางวัลเหรียญเงินด้านพลังงาน ระดับปริญญาตรี ให้กับผลงานนวัตกรรม “เซนเซอร์ทางเคมีไฟฟ้าสำหรับตรวจวัดตะกั่วเพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำ” ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy model โดย นางสาวเสาวลักษณ์ โชคชูลี นางสาวสลินดา บิลยะแม นายอัสมี สอและ นางสาวกัสริน สายสหัส นางสาวสุนิตา สมศิริ นางสาวเจนจิรา สายชนะพันธ์ Mr. Sangay Wangchuck

5. รางวัลเหรียญเงินด้านพลังงาน ระดับปริญญาตรี ให้กับผลงานนวัตกรรม “อุปกรณ์ตรวจวัดสารก่อมะเร็งไนไตรท์เพื่อความปลอดภัยในอาหาร” ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดย นางสาวสลินดา บิลยะแม นางสาวเสาวลักษณ์ โชคชูลี นายอัสมี สอและ นางสาวกัสริน สายสหัส นางสาวเจนจิรา สายชนะพันธ์ Mr. Sangay Wangchuck และ Mr. Phua Cheng Ho

ทั้งนี้ ผศ.ดร.พลชาติ โชติการ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรามีกลไกในการบ่มเพาะสำหรับนวัตกรรมที่อาจจะต้องยกระดับจากห้องปฏิบัติการ ให้กลายเป็น commercial scale ให้ได้ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการที่ให้นักวิจัย และนักศึกษาได้เจอกับภาคเอกชน เพื่อเกิดความร่วมมือกันภายใต้ความร่วมมือของ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสามารถต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *