ด้วย The National Pressure Injury Advisory Panel (NPIA) ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 3 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น”วันหยุดแผลกดทับโลก (World Wide Stop Pressure Injury Day)W ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 เพื่อให้องค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วโลกจัดกิจกรรมรณรงค์เพิ่มความตระหนักในการป้องกันการเกิดแผลกดทับและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีส่วนในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับแผลกดทับและการดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับอีกด้วย
“แผลกดทับ” นับเป็นแผลที่ส่งผลกับการใช้ชีวิตโดยตรง เพราะมีการกดทับลงไปจนเนื้อตายและเกิดแผลขึ้นมา แผลลักษณะนี้มักพบในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมน้อย ใช้ชีวิตประจำวันต้องอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ พลิกตะแคงตัวเองไม่ได้ รวมทั้งผู้สูงอายุ หากไม่รีบรักษานอกจากรุนแรงจนต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล อาจเกิดการติดเชื้อจากแผลกดทับอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
แผลกดทับเป็นแผลที่เกิดจากการกดทับลงไปเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายแบบเฉพาะที่ เกิดเนื้อตายและแผลขึ้นมา อาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณปุ่มกระดูกต่าง ๆ เช่น ส้นเท้า ก้นกบ ด้านข้างสะโพก เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงแผลกดทับ
- ขาดการเคลื่อนไหว เช่น นอนติดเตียงตลอดเวลา
- เคลื่อนไหวไม่ค่อยดี
- ผอม ผิวหนังบาง ขาดน้ำ ขาดอาหาร
- โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด
- ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ทำให้เกิดความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมขณะนอนหลับ
แผลกดทับ สามารถแบ่งได้ 6 ระดับ
- ยังไม่เป็นบาดแผล แต่ผิวหนังเริ่มเป็นสีแดง เมื่อใช้นิ้วมือกดรอยแดงไม่จางหายไป
- มีการสูญเสียของชั้นผิวหนังแท้บางส่วน เห็นเป็นแผลเปิดตื้น ๆ มีพื้นผิวแผลสีแดง อาจพบเป็นตุ่มน้ำใส
- มีการสูญเสียของเนื้อเยื่อถึงชั้นไขมัน แต่ไม่ถึงชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก พื้นผิวแผลบางส่วนอาจมีเนื้อตายสีเหลือง อาจจะมีโพรงแผล และหลุมแผลเกิดขึ้น
- มีการสูญเสียผิวหนังทุกชั้น และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก
- ระดับที่มีการบาดเจ็บเนื้อเยื่อชั้นลึก : ลักษณะสีของผิวหนังจะเปลี่ยนไปเป็นสีม่วง หรือสีน้ำตาลแดงหรือมีผิวหนังพองที่มีเลือดอยู่ข้างใน เนื่องจากเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายจากแรงกด และ/หรือแรงเลื่อนไถล
- ระดับที่ไม่สามารถบอกระดับได้ มีการสูญเสียของ เนื้อเยื่อชั้นที่ลึกมาก ซึ่งพื้นผิวแผลจะปกคลุมด้วยเนื้อตายที่มีลักษณะเหนียว /หรือมีเนื้อตายที่เป็นสะเก็ดดำหนา ปกคลุมบริเวณพื้นผิวแผล