กระดูกพรุน กระดูกเสื่อม ไม่เหมือนกัน ต่างกันอย่างไร
กระดูกเสื่อมและกระดูกพรุน เป็นโรคที่มีความแตกต่างกัน กระดูกเสื่อม คือ ความเสื่อมสลาย ความผุพัง โดยเฉพาะของข้อต่อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก และกระดูกหลัง ปัจจัยแรกมาจากอายุเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ กระดูกพรุน คือโรคที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกน้อยลงจากการสะสมกระดูกน้อยเกินไปหรือมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างทำให้กระดูกเปราะบางไม่สามารถรับน้ำหนัก โดยปกติทั้งสองโรคนี้มักพบมากในเพศหญิง แต่เพศชายสามารถพบได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถพบได้ในวัยหนุ่มสาวได้เช่นกัน
ผศ.นพ.จุลินทร์ ชีวกิดาการ อาจารย์แพทย์ สังกัดสาขาวิชา ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ ให้สัมภาษณ์ในรายการสภากาแฟ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ว่า คนที่เป็นกระดูกพรุน จัดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กระดูกพรุนโดยที่มีสาเหตุร่วมอื่นๆ เช่น
กินสเตียรอยด์ไปเป็นระยะเวลานาน ผอมแห้ง เป็นโรคที่ฮอร์โมนผิดปกติบางอย่างที่ทำให้มีการเสื่อมสลายของแคลเซียมจากกระดูก หรือประจำเดือนหมดเร็วเป็นปัจจัยที่เราสามารถแก้ไขได้ เสี่ยงก่อให้เกิดกระดูกพรุนอีกกลุ่มหนึ่งคือ คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่มีโรคเพียงแค่อายุเยอะ ต้องการตรวจคัดกรองเพื่อรับมือและเตรียมพร้อมในการรักษา โดยผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปจะสามารถคัดกรองได้ซึ่งอายุในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถคัดกรองแล้วมีผลลัพธ์ที่คุ้มค่า สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 แล้วไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทนสามารถตรวจได้เลย การตรวจคัดกรอง เครื่องมือการตรวจวัดที่ได้มาตรฐาน ที่นำไปสู่การวินิจฉัยจริง เรียกเครื่องมือนี้ว่า DEXA Scan เป็นเครื่องสำหรับสแกนส้นเท้า สแกนข้อมือ แต่ข้อจำกัดของเครื่องสแกนจะไม่สามารถนำไปสู่การวินิจฉัยได้โดยตรง จะใช้กลไกเหมือนการเอกซเรย์แต่ใช้เครื่องพิเศษ เป็นเครื่องมือเฉพาะที่สามารถสแกนกระดูกได้ว่าตอนนี้มีกระดูกมีความหนาแน่นกี่กรัมต่อลูกบาศก์เซ็นต์
ผศ.นพ.จุลินทร์ ฯ ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ความเสื่อมของกระดูก สามารถเกิดได้ทุกที่ที่เป็นข้อ ส่วนใหญ่ที่พบเจอจะอยู่บริเวณ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อหลัง สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกเสื่อม เรื่องของการใช้งานก็อาจจะต้องลดลง เช่น ข้อเข่า เรื่องการใช้งานข้อเข่าที่ต้องพับเข่าเยอะๆ พับเพียบ คุกเข่ายองๆ ควรหลีกเลี่ยง แล้วก็ออกกำลังกกายเสริมกล้ามเนื้อโดยรอบข้อเข่าก็สามารถช่วยให้รับน้ำหนักของข้อได้ในระดับหนึ่งแต่ความเสื่อมก็ยังคงอยู่ แต่อาการจะไม่หายขาดในทันที ด้านการเปลี่ยนข้อก็ถือเป็นทางออกหนึ่งไม่ใช่ทางออกทั้งหมด แต่สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ทำให้ข้อหายเสื่อม ซึ่งการผ่าตัดข้อเป็นการเปลี่ยนเป็นการใส่เหล็กเข้าไป ซึ่งทำให้อาการปวดจะหายแน่นอน แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงมากมายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้ เช่น ข้อเข่าเทียมติดเชื้อ มีกระดูกหักรอบข้อเข่าเทียม เป็นต้น
ผศ.นพ.จุลินทร์ ฯ กล่าวทิ้งท่ายว่า วิธีการป้องกันในเรื่องของกระดูกพรุนและกระดูกเสื่อม คือ เรื่องการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ให้เหมาะสมกับช่วงวัย เป็นผลลัพธ์หนึ่งที่จะทำให้เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก และลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุการล้ม ปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมก็จะช่วยป้องกันการหักได้ การบริหารข้อเข่ากล้ามเนื้อต้นขาและหน้าขาเบื้องต้น เช่น นั่งยกขาขึ้น เหยียดเข่า กระดกเท้าขึ้น ยืดขาตรง บริหารหลังให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก จัดท่าทางในการนั่งทำงานให้เหมาะสม ตลอดจนวิธีรักษาโดยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกระดูกโดยตรง เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยปกป้องกระดูกสันหลังของเราให้สามารถใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น โดยไม่เกิดปัญหาในอนาคตและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ
รับชมรายการสภากาแฟย้อนหลัง ประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 : https://www.facebook.com/PSUBroadcast/videos/1343654196464631
ข้อมูล : ผศ.นพ.จุลินทร์ ชีวกิดาการอาจารย์แพทย์ สังกัดสาขาวิชา ออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. หาดใหญ่