คณะแพทย์ ม.อ. จับมือภาคีเครือข่ายในจังหวัดสงขลา ร่วมลงนามจัดทำระบบอัจฉริยะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพ ยกระดับการรักษาพยาบาลในจังหวัดสงขลา พร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบสุขภาพระดับประเทศ

โดยมีนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีลงบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสุขภาพ เพื่อยกระดับบริการทางสาธารณสุข สำหรับสถานพยาบาลขนาดต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา หรือ Hospital Information Exchange : HIE โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ซึ่งการจัดทำระบบในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการดำเนินงานจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

รศ.นพ.เรืองศักดิ์  ลีธนาภรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า “โครงการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสุขภาพ เพื่อยกระดับบริการทางสาธารณสุข สำหรับสถานพยาบาลขนาดต่างในจังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในจังหวัดสงขลา ร่วมกับ สสจ.ในการศึกษา ออกแบบ พัฒนา และให้บริการระบบสารสนเทศเกี่ยวกับการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลประวัติสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการส่งข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมายังศูนย์รวบรวมข้อมูลหรืออาจเรียกว่าเป็น “สมุดสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์”ที่แพทย์แต่ละโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการสามารถย้อนดูประวัติการรักษาของผู้ป่วย ไม่ว่าจะไปรักษาที่ใด โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องถือประวัติหรือข้อมูลการรักษา และที่สำคัญคือผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปมาหลายครั้งเพื่อขอข้อมูลการรักษาเก่า ซึ่งการนำระบบ HIE มาใช้เป็นอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพ ให้ก้าวไปสู่การรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป

นพ.สงกรานต์  ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา  กล่าวว่า “โครงการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสุขภาพฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลในระบบกระทรวงสาธารณสุข ที่เล็งเห็นความสำคัญในการรวบรวมข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยในจังหวัดสงขลาที่รักษาอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกและเข้าสู่ระบบการพยาบาลได้เร็วมากขึ้น เพราะโครงการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสุขภาพฯ เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นต่อการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อไปทำการรักษายังโรงพยาบาลอื่น  ระบบนี้จะทำให้แพทย์ผู้รับรักษาต่อ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเบื้องต้นของผู้ป่วย เช่น ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือการรักษาที่ผ่านมาโดยผู้ป่วยไม่ต้องนำประวัติการรักษาติดตัวมาด้วย เช่น ในกรณีที่จำไม่ได้ว่ายาที่เคยทานอยู่ก่อนหน้านี้มียาอะไรบ้าง โปรแกรมดังกล่าว จะทำให้แพทย์รู้ได้ทันทีว่า ผู้ป่วยมีประวัติการทานยาหรือแพ้ยาอย่างไรบ้าง ทำให้ไม่เสียเวลาในการเริ่มต้นการรักษาใหม่ตั้งแต่ต้น รวมถึงข้อมูลที่ได้รับยังเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนอีกด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาระบบสุขภาพของจังหวัดสงขลาเลยก็ว่าได้

ด้าน ผศ.ดร.นพ.ชนนท์  กองกมล  รองคณบดีฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลและนวัตกรรมดิจิตอล  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดทำโครงการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสุขภาพฯในครั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหน้าที่ในการดำเนินการศึกษา ออกแบบ และให้บริการสำหรับระบบ HIE เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพและข้อมูลการให้ความยินยอมของผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล รวมถึงเป็นผู้นำส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ และจัดการดูแลบัญชีสถานพยาบาลในระบบ HIE เพื่อให้การเชื่อมต่อ นำส่ง การป้องกันข้อมูลและการดูแลเรื่องความปลอดภัยของระบบอีกด้วย”

ด้าน นายไพเจน  มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “นโยบายขององค์การบริหารจังหวัดสงขลาด้านสาธารณสุข มีหลายอย่างที่ต้องเร่งดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน โดยการเพิ่มองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถรวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อการเข้าถึงทุกครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ และผู้ด้วยโอกาส ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาและส่งเสริมศูนย์บริบาลผู้สูงอายุแบบครบวงจรทั้ง 4 มุมเมืองของจังหวัดสงขลา ที่สำคัญคือการพัฒนาและยกระดับศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน1669 สู่มาตรฐานสากล ซึ่งระบบ HIE จะมีส่วนในการสนับสนุนการทำงานของศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน เนื่องจากในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ได้ การทราบประวัติการรักษาของผู้ป่วยจากระบบ จะทำให้แพทย์สามารถตัดสินใจและให้การรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดยโครงการพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับแลกเปลี่ยนและประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสุขภาพ เพื่อยกระดับบริการทางสาธารณสุข สำหรับสถานพยาบาลขนาดต่าง ๆในจังหวัดสงขลา หรือ Hospital Information Exchange : HIE ในครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลดีกับผู้ป่วยที่ไม่ต้องเดินทางไปมาเพื่อขอเอกสารหรือประวัติการรักษาหรือ ขอข้อมูลอื่น ๆ เพื่อรักษาต่อแล้ว ในอนาคตข้อมูลโรคต่าง ๆที่ระบบจัดเก็บไว้ ยังเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนารูปแบบการรักษาหรือการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *