ม.อ.ปัตตานีเสริมพลัง “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศอ่าวปัตตานี” ด้วยงานวิจัย มุ่งสร้างความยั่งยืนทุกมิติ

ผศ.สุธา เกลาฉีด รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ให้สัมภาษณ์ว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอ่าวปัตตานีคือผลของการขยายผลโครงการวิจัยฟื้นฟูอ่าวปัตตานี ซึ่งศึกษาอ่าวปัตตานีเพื่อฟื้นฟูอ่าวปัตตานีซึ่งช่วงหนึ่งความอุดมสมบูรณ์ลดลง ชาวประมงจับปลาได้น้อยลง แต่การฟื้นฟูต้องใช้เวลานาน และพบว่าอ่าวปัตตานีมีทรัพยากรอย่างอื่นที่เอื้อต่อการทำท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จึงชักชวนชาวประมงพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นรายได้เสริมควบคู่การฟื้นฟูอ่าวปัตตานี ม.อ.ปัตตานี ด้วยทุนความโดดเด่นทางธรรมชาติของอ่าวปัตตานี ซึ่งประกอบด้วยแหล่งธรรมชาติ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์ท้องถิ่น  จนเกิดรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอ่าวปัตตานีที่จัดการโดยชุมชน เกิดกิจกรรมกระบวนการที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้ความสำคัญกับการศึกษาและการสร้างจิตสำนึกมากกว่าการให้ความพึงพอใจอย่างไม่มีขอบเขตกับนักท่องเที่ยว

อ.สุธา ให้ข้อมูลว่าอ่าวปัตตานีอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอยะหริ่ง รับน้ำจากแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรีมัน มีป่าชายเลนขนาดใหญ่อุดมสมบูรณ์บริเวณปากแม่น้ำสายบุรี  แม่น้ำทั้งสองสายพาตะกอน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้อ่าวปัตตานี เอื้อต่อการเจริญเติบโตพืชป่าชายเลน  ดินตะกอนอุดมไปด้วยอาหารของสัตว์น้ำ อ่าวปัตตานีจึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่เจริญเติบโตในอ่าวปัตตานี อ.สุธาเปรียบเทียบว่าเหมือนเป็นมดลูกของอ่าวทะเล เพราะเป็นที่เกิดของสัตว์น้ำวัยอ่อนต่างๆ เมื่อสัตว์เจริญเติบโตขึ้นก็จะออกมาสู่อ่าวปัตตานี

ป่าชายเลนผืนใหญ่ของอ่าวปัตตานีแน่นขนัดด้วยพืชป่าชายเลน สวยงาม มีการทำประมง การเลี้ยงปลา ซึ่งชาวประมงจะมีวิธีการหาปลาที่แตกต่างกัน อ.สุธาเล่าว่าอ่าวปัตตานีมีสีสันให้นักท่องเที่ยวชมหลากหลายรูปแบบ และป่าชายเลนที่ยังอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษา รอบอ่าวปัตตานียังมีลักษณะภูมิประเทศหาดหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หาดเลนที่ไม่มีต้นไม้ แต่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์บางชนิด โดยเฉพาะนกน้ำ นกชายเลน และนกอพยพหลายชนิด หรือเกาะรังนกป่าโกงกาง ซึ่งเมื่อล่องเรือก็จะเห็นนกฝูงใหญ่บินกลับรัง  ใกล้ๆกันนั้นมีนาเกลือ อาชีพทำนาเกลือเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านซึ่งปัจจุบันเป็นจุดเรียนรู้ภูมิปัญญาการผลิตเกลือหวานปัตตานี ช่วงว่างเว้นจากการทำนาเกลือ ผืนนาจะกลายเป็นบึงน้ำ แหล่งอาหารและแหล่งอาศัยของนก ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานี เหมือนบ้านให้สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด

นอกจากความอุดมสมบูรณ์แล้วอ.สุธายังเล่าว่าอ่าวปัตตานีก็ยังซ่อนทิวทัศน์ จุดสวยงามต่างๆ เช่น อุโมงค์ป่าโกงกาง วิถีชีวิตประมงพื้นบ้านที่ชาวประมงยังคงใช้การประมงพื้นบ้านดั้งเดิม จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่แหลมตาชี หรือแม้แต่จุดภูมิประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันยาวนาน  เช่น มัสยิดกรือเซะ สุสานพญาอินทิรา สุสานสามราชินี ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว วัฒนธรรมท้องถิ่นสะท้อนการผสมผสานมุสลิม ไทย จีน อาคารสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เช่น มัสยิดกลาง หรืองานหัตถกรรมต่างๆ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นที่ปรึกษา เป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้ชุมชนจัดการรูปแบบกิจกรรมของท่องเที่ยวชุมชนจนเกิดชุมชนท่องเที่ยวของอ่าวปัตตานี คือ

-ท่องเที่ยวชุมชนสะพานไม้บานา เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรทั้งป่าชุมชนในพื้นที่และทรัพยากรในสัตว์น้ำ มีกิจกรรมปล่อยสัตว์น้ำ ปลูกป่าชายเลน และที่นักเรียนชอบมาทำคือ กิจกรรมบ้านปลา

-ชุมชนท่องเที่ยวบาราโหม ศูนย์กลางของวัฒนธรรม พัฒนาทุนวัฒนธรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสินค้า เช่น ลายผ้าบาติกจากลายโบราณสถาน

– ชุมชนท่องเที่ยวบางปู ใกล้เกาะรังนก นำเสนอขนมท้องถิ่นเช่น ขนมมาดูฆาตง ขนมประจำถิ่นของบางปู

– ชุมชนท่องเที่ยวบูนาดารา มีกิจกรรมปลูกต้นโกงกาง เน้นการท่องเที่ยวอุโมงค์โกงกาง เป็นจุดรับนักท่องเที่ยวและที่บริการศึกษาชุมชน พาดูการวาดลายเรือกอและทำของที่ระลึกโดยเอาลายเรือกอและวาดบนสินค้าต่างๆ

หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวชุมชนคือการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งม.อ.ปัตตานีประสานงานกับกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนและชาวประมงเพื่อปกป้องดูแลอ่าวปัตตานีให้คงอยู่ เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งเรื่องการประมงและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นอกจากสนับสนุนให้ชุมชนจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนเองแล้ว คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานีจัดโปรแกรมท่องเที่ยวกิจกรรมดูนกและศึกษาธรรมชาติอ่าวปัตตานีเพื่อให้แตกต่างจากท่องเที่ยวของชุมชน เกิดโครงการ Ecotourism Around Pattani Bay  3 โปรแกรม ได้แก่

1.ยุวชนน้อยตามรอยนก ศึกษาสิ่งมีชีวิตในน้ำ ป่าชายเลน พืชป่าชายเลน ตะลุยโคลนเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิต ศึกษาสัตว์หน้าดิน เป็นต้น 2.ท่องเที่ยวดูนกรอบอ่าวปัตตานี มี 2 เส้นทางคือ 1.Boat Trip ล่องเรือรอบอ่าวสำรวจนก เข้าป่าโกงกางถึงบางปูและแหลมตาชี เดือนละ 2 ครั้ง แรม 8 ค่ำ  2.Land Trip ดูนก ความรู้ระบบนิเวศ เน้นเรียนรู้ร่วมกันของคนในครอบครัว 3.Bird Walk เรียนรู้เรื่องการดูนกบริเวณหาดเลนรอบ ม.อ.ปัตตานี มีกล้องดูนกและคู่มือการดูนกไว้บริการ อีกทั้งยังมีวิทยากรที่จะให้ความรู้ในการดูนกอีกด้วย

Cr. ภาพคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี

ผลงานข่าวโดย: นางสาวศรุตา ชาญณรงค์ รหัสนักศึกษา 6211110059 นักศึกษาฝึกงาน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *