ดร.นงลักษณ์ กุลวรรัตต์ แพทย์แผนไทย และหวันฮูดา ปะดูกา คณะการแพทย์แผนไทย ม.สงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการสภากาแฟ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 เรื่อง “การดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยในช่วงฤดูหนาว” ว่า ความหนาวเย็นในฤดูหนาวนั้นขึ้นอยู่กับธาตุและการรับรู้ของแต่ละบุคคล ซึ่งภายในร่างกายของคนเราจะมี 4 ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ บางคนอาจจะรับรู้ถึงอากาศหนาวในอุณหภูมิที่ต่างกัน เพราะธาตุภายในร่างกายจะเกิดการรับรู้ได้ไม่เหมือนกัน
ทางด้านแพทย์แผนไทยสมุฏฐานทั้งหมดเป็นปัจจัยหรือมูลเหตุของการเกิดโรค ในคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยของแพทย์แผนไทย มี 5 ประเภท 1.ธาตุสมุฏฐาน คือ ธาตุในร่างกาย มีการแปรปรวนของธาตุทำให้เกิดภาวะการเจ็บป่วย 2.อุตุสมุฏฐาน คือ ฤดูกาลต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปและฝนที่ทำให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วย 3.อายุสมุฏฐาน คือ อายุของแต่ละบุคคลซึ่งมีผลต่อการเจ็บป่วย 4.กาลสมุฏฐาน คือ ช่วงเวลาแต่ละวันจะมีผลต่อธาตุในร่างกายและมีผลต่อความเจ็บป่วย 5.ประเทศสมุฏฐาน คือ ภูมิประเทศ ถิ่นที่อยู่ จะมีผลต่อธาตุในร่างกายและเกิดการเจ็บป่วยได้
ธาตุสมุฏฐานคือธาตุในร่างกาย ส่วนอุตุสมุฏฐานเกี่ยวกับฤดูกาล คือ ฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นกระทบกับธาตุในร่างกาย ซึ่งตามศาสตร์แผนไทยร่างกายมนุษย์มี 4 ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าธาตุเหล่านี้สมดุลส่งผลให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่เมื่ออากาศหนาวเข้ากระทบ จะเสียการสมดุลทำให้ธาตุน้ำในร่างกายกำเริบและเกิดโรคได้ง่าย เกิดโรคเกี่ยวกับเสมหะ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัด มีน้ำมูก ไอ จาม และเจ็บคอ อาการเหล่านี้มักเจอช่วงเปลี่ยนฤดู ปลายฝนต้นหนาวเพราะธาตุในร่างกายยังชินกับฤดูฝน เมื่อธาตุคงที่แล้วมีอากาศเย็นเข้ามากระทบจะทำให้คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงปรับเปลี่ยนสภาพอากาศได้ไม่เหมาะสม เกิดการเปลี่ยนแปลงของธาตุ อาการมักกำเริบตอนเช้าช่วงฤดูหนาว เพราะมีกาลสมุฏฐานและอุตุสมุฏฐานร่วมด้วย โดยในตอนเช้าเป็นช่วงของเสมหะ(ธาตุน้ำ) เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวธาตุน้ำจึงแปรปรวนได้ง่าย
อ.นงลักษณ์ให้ความรู้่ว่าช่วงเวลาอื่นเกิดอาการนี้ได้เหมือนกัน เพราะกาลสมุฏฐานคือเช้า เที่ยง เย็น แต่ถ้าอุตุสมุฏฐานก็ตามฤดูกาล ซึ่งในแต่ละวันอาจจะมีหลายฤดู เกิดการแปรปรวนของฤดูกาลมีผลกระทบต่อธาตุเป็นอย่างมากหรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันด้วย เช่น การทำงานห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ช่วงพักกลางวันเจอแดดจัดภายนอกจะส่งผลต่อธาตุ ทำให้ร่างกายของคนที่ไม่แข็งแรงหรือผู้สูงอายุเกิดการแปรปรวนและกลายเป็นไข้หวัดได้ง่าย ซึ่งอาการร้อนๆหนาวๆในช่วงฤดูหนาว แต่ถ้าอยากวินิจฉัยอย่างลึก อ.นกลักษณ์แนะนำว่าต้องดูหลายองค์ประกอบ เช่น วันเดือนปีเกิด พฤติกรรมต่างๆ ไม่ใช่แค่ฤดูกาลอย่างเดียว
ส่วนประเทศสมุฏฐาน คือแหล่งที่อยู่อาศัย เขตเมือง เขตภูเขา อุณหภูมิต่างกัน บริเวณภูเขาต้นไม้เยอะ อากาศหนาวเย็น ริมทะเล หรือในเมืองก็จะเป็นอีกแบบนึง ซึ่งผู้คนที่อยู่ในสถานที่ต่างๆก็จะมีความเสี่ยงและโอกาสเป็นโรคที่แตกต่างกัน โดยภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่น้ำเค็ม เป็นสมุฏฐานปัถวีเกี่ยวข้องกับธาตุดิน ก็จะมีธาตุอื่นเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งภาคเหนืออยู่ที่สูงจะมีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับความหนาวได้ง่ายกว่าภาคใต้
ในช่วงฤดูหนาวปัจจัยหรือมูลเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้ง่ายจะเป็นธาตุน้ำที่มีผลต่อเสมหะ ไข้หวัด ไอ จาม เจ็บคอ ซึ่งการรักษาอาการเหล่านี้ทางแพทย์แผนไทยจะเน้นแนวปฏิบัติ โดยการรับประทานอาหารที่มีรสตามเป้าหมายก็คือ รสนั้นไปรักษาอาการเหล่านั้น เพื่อจะช่วยให้ทุกคนได้เข้าถึง เพราะทางแผนไทยจะบอกว่าทานอาหารในกิจวัตรก็ช่วยได้โดยไม่ต้องไปทานยา ซึ่งรสยาที่นิยมใช้ในฤดูหนาวมี 3 รส ได้แก่
รสเปรี้ยว เช่น มะนาว มะขาม ใบชะมวง อาหารพวกต้มยำ แกงส้มดอกแค ซึ่งความเปรี้ยวเหล่านี้จะช่วยลดเสมหะ ลดอาการไอ และเจ็บคอได้ดี โดยแกงส้มดอกแคจะได้รับครบทั้ง 3 รสเลย ไม่ว่าจะเป็นความเปรี้ยวจากมะนาว ความเผ็ดร้อนจากเครื่องแกง และความขมจากดอกแค ซึ่งสามารถช่วยรักษาไข้หัวลมหรือไข้เปลี่ยนฤดู ที่เจอในช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงได้ดี อีกทั้งอาหารรสเปรี้ยวที่เหมาะกับกาลสมุฏฐานจะเป็นช่วงเช้าที่เสมหะมันเฟื้องมาก ดังนั้นช่วงฤดูหนาวจะมีอาการเยอะในช่วงเช้าเพราะมีทั้งอุตุสมุฏฐานและกาลสมุฏฐานมารวมกัน การกินของเปรี้ยวในช่วงเช้าก็จะช่วยให้ดีขึ้นแต่ไม่ควรกินแบบเปรี้ยวจัด อาจจะมีการเพิ่มเกลือเข้าไปนิดหน่อย เพราะการกินเปรี้ยวเยอะเกินไปก็ไม่ดี
รสขม เช่น มะระ สะเดา ดอกเเค ขี้เหล็ก ความขมเหล่านี้ก็จะช่วยในเรื่องของการลดไข้ ช่วยให้นอนหลับสบายมากขึ้น และยังสามารถช่วยในเรื่องของการเจริญอาหารได้ดีอีกด้วย เพราะรสขมส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์เย็น เมื่อคนที่มีอาการไข้หรือนอนหลับไม่สนิทได้ทานอาหารรสขมเข้าไปอาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้น
รสร้อน เช่น ขิง ข่า กระชาย พริกไทย กะเพรา โหระพา กระเทียม หอมแดง ซึ่งจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย ดังนั้นเมื่อปฏิบัติตามและคุมธาตุได้เราก็จะไม่ป่วย ถ้ายิ่งอากาศหนาวก็จะมีอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาการปลายมือปลายเท้าเย็นตามมา สาเหตุจากลมไม่สามารถกระจายได้ดีทั่วร่างกาย ไม่สามารถพัดธาตุไปสู่บริเวณปลายมือปลายเท้าได้ โดยน้ำขิงเป็นสิ่งที่แนะนำมาก เพราะมีรสร้อนที่ช่วยกระจายลมภายในร่างกาย ทำให้ลมไหลเวียนทั่วร่างกายได้ดี ช่วยลดอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อย เย็นปลายมือปลายเท้า ท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ได้อีกด้วย
อ.นงลักษณ์แนะนำว่าเมื่อเริ่มมีอาการ และรู้ว่าอาหารรสไหนช่วยได้ก็สามารถเลือกกินรสนั้นได้เลย ซึ่งควรเลือกอาหารที่มีรสหลากหลาย เช่น ข้าวยำที่ปรุงเอง น้ำพริก เพราะเราสามารถเลือกผักตามรสที่เราต้องการได้ เช่น อยากเน้นเปรี้ยวก็น้ำพริกกับยอดมะกอก ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากกระตุ้นอะไร ซึ่งอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงฤดูหนาวคือ รสมันและรสหวาน เพราะมันจะไปกระตุ้นเสมหะทำให้ไอและมีเสมหะมากขึ้น หรือในช่วงฤดูหนาวถ้ากินน้ำแข็งร่างกายเย็นมากขึ้น ทำให้อาการไข้ทรุด ถ้าเราปฏิบัติได้ไม่สอดคล้องกับธาตุภายในร่างกายก็จะทำให้ป่วยได้
การดูแลสุขภาพเบื้องต้นสามารถปรับใช้กับฤดูกาลอื่นๆได้ เช่น 1.การกิน ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่หนักไปทางรสใดรสหนึ่ง ควรดูตามสภาพร่างกายของตัวเอง 2.การนอน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยแนะนำให้นอนก่อน 4 ทุ่ม 3.การออกกำลังกาย จะเน้นตามช่วงอายุ ถ้าเป็นผู้สูงอายุไม่ควรออกกำลังกายในช่วงก่อนนอน เพราะจะทำให้นอนหลับไม่สนิทเนื่องจากร่างกายยังตื่นตัวอยู่ ดังนั้นควรเน้นการเดิน การยืดเหยียด โยคะ ดีกว่าจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย นอนหลับได้สนิทมากขึ้น
อ.นงลักษณ์ย้ำเรื่องสังเกตตัวเอง ถ้าหนาวเย็นมากเกินไปต้องรักษาอุณหภูมิร่างกายให้ดี ห่มผ้า แต่งกายให้เหมาะสม ไม่ให้ปลายมือปลายเท้าเย็นเกินไป เพราะจะทำให้ธาตุแปรปรวนได้ เมื่อเริ่มมีอาการก็ควรทานอาหารรสเปรี้ยว รสขม รสร้อน เลือกรสให้เหมาะสมกับอาการที่เป็น นั่นก็คือศาสตร์ในการป้องกันสุขภาพของแพทย์แผนไทยการทานอาหารป้องกันไม่ให้ป่วยรุนแรง และขั้นพื้นฐาน การกิน การนอน การออกกำลังกาย ถ้าปฏิบัติตามได้ก็จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เกิดความสมดุลของร่างกายและจิตใจ สามารถทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆได้อีกด้วย