สธ.สงขลา เตือนประชาชนระวังถูกสุนัข แมวกัดหรือข่วน เน้นย้ำมาตรการ 5 ย ลดความเสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาได้รับรายงานการส่งหัวสัตว์ตรวจจำนวน 13 หัว พบมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 6 หัว (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1ม.ค. -14 ก.พ. 2566) โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับระยะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน อาจเป็นสาเหตุให้สัตว์หงุดหงิดง่าย เสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง ที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พบในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าและยังติดต่อมาสู่คน พาหะนำโรคที่สำคัญคือสุนัข รองลงมาคือแมว และสัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ สุกร ม้า และสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนม สาเหตุการติดเชื้อที่สำคัญที่สุดคือ การถูกสัตว์ทีมีเชื้อพิษสุนัขบ้า ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าแผลรอยขีดข่วน เยื่อบุตา จมูก ปาก เชื้อจะยังคงอยู่บริเวณนั้นระยะหนึ่ง โดยเพิ่มจำนวนในกล้ามเนื้อ ก่อนจะผ่านเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายไขสันหลังและเข้าสู่สมอง มีการแบ่งตัวในสมอง พร้อมทำลายเซลล์สมอง และปล่อยเชื้อกลับสู่ระบบขับถ่ายต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำตา ตามแขนงประสาทต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการบางรายเกิดอาการช้านานเกิน 1 ปี บางรายเกิดอาการเร็วเพียง 4 วันเท่านั้น แต่โดยเฉลี่ย 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป บาดแผลใหญ่ ลึก หรือมีหลายแผล ตำแหน่งที่เชื้อเข้าไป ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อก็จะเดินทางไปถึงสมองได้เร็ว นอกจากนั้น สามารถติดต่อจากการกินได้ถ้ามีบาดแผลภายในช่องปากและหลอดอาหาร ซึ่งจะพบกรณีสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายใหม่ ๆ สุนัขและแมวที่ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนแสดงอาการ เพราะเชื้อจะออกมาในน้ำลายเป็นระยะ ประมาณ 1-7 วันก่อนแสดงอาการ
อาการของผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า มี 3 ระยะ ดังนี้ 1) ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำเพาะของโรคระยะนี้มีเวลาประมาณ 2-10 วัน 2) ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึง กลัวน้ำ อาการจะเป็นมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน 3) ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติหากถูกสุนัขหรือแมว กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล ควรยึดหลัก “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา (แมว/สัตว์เลี้ยง) หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อให้ครบชุด” ถึงแม้ว่าจะถูกกัด/ข่วนเพียงเล็กน้อยโดย คือ เมื่อถูกสุนัขกัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง อย่างน้อย 10 นาทีใส่ยาฆ่าเชื้อหลังล้างแผล และห้ามปิดแผลโดยเด็ดขาด กักสุนัข/แมวที่กัดเพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 – 15 วัน และรีบไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามแนวทาง/มาตรฐาน ฉีดวัคซีนให้ครบทุกเข็ม เพื่อการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษาเป็นการเฉพาะ และถ้าติดเชื้อ
จะเสียชีวิตทุกราย การป้องกันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ควรปฏิบัติ ดังนี้ 1) เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำเลี้ยงสัตว์ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี 2) ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพังโดยไม่ใส่สายจูง 3) พาสัตว์เลี้ยงไปทำหมันเมื่อไม่ต้องการให้มีลูก และ 4) ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดด้วยการยึดหลักคาถา 5 ย. คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ และขอให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการสุนัข แมวของตนเอง รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ
โรคพิษสุนัขบ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422
ข้อมูล : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา