จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) ระบบเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบเหตุการณ์การรับประทานแมงดาทะเลที่มีพิษ รวม 6 เหตุการณ์ มีข้อมูลผู้รับประทาน 38 ราย ในจำนวนนี้ป่วย 18 ราย และเสียชีวิตรวม 5 ราย มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 27.8 (เสียชีวิตประมาณ 1 ใน 3 ราย) ส่วนใหญ่เกิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่มาของแมงดาทะเลมีทั้งที่จับเองและซื้อจากร้านอาหารหรือตลาด และเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 มีรายงานรับประทานแมงดาทะเลมีพิษเป็นเหตุการณ์แรกของปี 2566 มีผู้ร่วมรับประทาน 7 ราย เสียชีวิต 2 ราย และป่วย 5 ราย อาการที่พบคือ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาไม่มีแรง หายใจผิดปกติรู้สึกชาลิ้นและปาก ปลายมือ ปลายเท้า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย หลังจากรับประทาน จะเริ่มมีอาการภายใน 3 ชั่วโมง และเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสพบผู้รับประทานแมงดาทะเลที่มีพิษได้มากขึ้น เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูวางไข่ของแมงดาทะเล ซึ่งจะพบแมงดาทะเลชุกและมีไข่ โดยแมงดาทะเล โดยเฉพาะแมงดาถ้วยเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษ tetrodotoxin หรือ saxitoxin เช่นเดียวกับปลาปักเป้า เป็นสารพิษที่ละลายน้ำได้ดี ทนความร้อน พิษจะยับยั้งการทำงานของระบบประสาท ผู้ป่วยมักมีอาการหลังรับประทานอาหาร 30 นาที โดยมีอาการหูอื้อ และไร้ความรู้สึก เริ่มจากรอบปาก และแพร่ไปยังคอ และหน้า จากนั้นจะปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และอาจเสียชีวิตได้เมื่อระบบทางเดินหายใจไม่ทำงาน ภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ
ทั้งนี้ แมงดาทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ แมงดาถ้วย หรือ เห-รา ตัวเล็กกว่าหางกลมเรียบ แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่มีพิษ ทั้งในเนื้อและไข่ อีกชนิดคือแมงดาจาน ที่ตัวใหญ่กว่าแต่หางรูปสามเหลี่ยมมีรอยหยัก แมงดาชนิดนี้เป็นแมงดาที่ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้ อย่างไรก็ตาม ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูงในการจำแนกชนิดของสัตว์แมงดาทะเลทั้งสองชนิด
กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการรับประทานอาหารทะเลจำพวก แมงดาทะเล หากไม่ทราบชนิดหรือแยกไม่ออกไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีพิษรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง หากมีประชาชนสงสัยว่าได้รับพิษหรือมีอาการผิดปกติตามอาการข้างต้น ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานอาหารที่สงสัย เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา
ด้านอาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาและศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า โดยทั่วไปแมงดาจาน มีรูปร่างใหญ่กว่า หางเป็นรูปสามเหลี่ยม มุมด้านบนของสามเหลี่ยมเป็นรอยหยักชัดเจน ไม่เป็นพิษสามารถนำมารับประทานได้ ปัจจุบันส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนแมงดาถ้วย มีรูปร่างเล็กกว่า หางกลมและเรียบ มักอาศัยอยู่ตามป่าเลน ส่วนใหญ่มีพิษไม่ควรนำมารับประทาน
โดยพิษในแมงดาถ้วยเกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ 1.แมงดากินแพลงก์ตอนที่มีพิษ หรือกินสัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่กินแพลงก์ตอนพิษเข้าไป ทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดา 2.เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างพิษขึ้นมาได้เอง หรือสาเหตุประกอบกันทั้งสอง และที่สำคัญสารพิษทั้ง 2 ชนิด เป็นสารที่ทนต่อความร้อนได้ดี การปรุงอาหารด้วยความร้อนวิธีต่าง ๆ ไม่สามารถทำลายสารพิษชนิดนี้ได้
สำหรับผู้ได้รับพิษจากแมงดาทะเล อาการมักจะแสดงภายหลังรับประทานประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแหล่งที่อยู่อาศัยของแมงดา ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่น รับประทานไข่แมงดาถ้วย อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางราย อาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน ระบบหายใจล้มเหลว หมดสติ และสมองขาดออกซิเจน หากช่วยเหลือไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6-24 ชั่วโมง สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับพิษ ให้ผู้ปฐมพยาบาลทำให้ผู้ป่วยหายใจคล่องที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการ CPR จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร น้ำหรือยา เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการสำลักได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422