หน้าร้อนระวังป่วย โรคลมแดด หรือ “ฮีทสโตรก” อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอาจเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ผู้ที่ทำงานก่อสร้างหรือออกกำลังกาย 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง 4.ผู้ที่มีภาวะอ้วน 5.ผู้ที่นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการ “ฮีทสโตรก”จะมีอาการตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669

สคร.12 สงขลา ขอแนะนำประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนาน ๆ สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และเป็นเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ด้าน อ.นพ.กรกช มะลิวรรณกุล ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าในรายการสภากาแฟ ช่วงเวทีสุขภาพโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ว่า “กรณีพบผู้ป่วยฮีทสโตรก เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติในอากาศร้อนจัด ให้คำนึงว่าเป็นฮีทสโตรกซึ่งอยู่ในภาวะฉุกเฉิน บางรายอาจหัวใจหยุดเต้น ต้องมีการ CPR เมื่อเจอเหตุการณ์ดังกล่าวให้เรียกรถพยาบาลทันที หรือหากยังไม่หมดสติให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเรื่องระบายความร้อน ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำในปริมาณน้อยแต่ดื่มเรื่อย ๆ อย่าใช้น้ำเย็นจัด ใช้ผ้าเย็นร่วมด้วยในการเช็ดตัว หรือใช้น้ำล้างตัวเพื่อระบายความร้อน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่กรณีนักวิ่ง แต่การเลือกเวลาในการออกกำลังกายของผู้สูงอายุมีผลมาก ต้องระวังเป็นพิเศษ”

ผศ.นพ.วชิรพรรณ ปริญญาคุปต์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า “สิ่งที่อันตรายสำหรับหน้าร้อน คือการออกกำลังกายแล้วอุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น หากสภาพแวดล้อมมีความร้อนมากแล้วร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน ความร้อนจะค้างอยู่ในร่างกายทำให้โครงสร้างร่างกายทำงานผิดปกติ จึงเรียกว่า ฮีทสโตรก หรือ ลมแดด มีอาการคือ ตัวร้อน แต่ไม่มีเหงื่อ ร่างกายระบายความร้อนไม่ได้ บางรายอาจหมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิต โดยโรคฮีทสโตรกมักเกิดในกลุ่มนักกีฬา เนื่องจากมีการฝึกฝนอย่างเต็มที่ทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง ทำให้ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน สำหรับบุคคลทั่วไปให้คำนึงถึงหลักการง่ายๆ คือการดื่มน้ำ อย่าใส่ชุดที่ระบายอากาศไม่ดี พยายามออกกำลังในสถานที่ร่ม มีการระบายอากาศดี หรือมีต้นไม้โดยรอบ กำหนดเวลาออกกำลังกายในช่วงเช้า เพื่อลดการสัมผัสความร้อนจากแสงแดดในช่วงกลางวัน ผศ.นพ.วชิรพรรณย้ำว่า การดื่มน้ำมีความสำคัญมาก หากมีการวิ่งออกกำลังกายให้ดื่มน้ำทุก ๆ 10-15 นาที เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำมากเกินไป”

“ร่างกายจะมีการสูญเสียเหงื่อ นํ้า เกลือแร่มหาศาล ผู้สูงอายุและมีโรคประจําตัว เช่น ความดัน ต้องทานยาลดความดันโลหิต มีเส้นเลือดหัวใจ สมองตีบ มีโรคไต การขาดนํ้า เกลือแร่ ทําให้เลือดข้น เกิดการกําเริบของโรคเส้นเลือดตีบและโรคไต แม้แต่คน ที่คิดว่าแข็งแรงยังหนุ่มสาว การขาดนํ้าเกลือแร่ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองจะแปรปรวน ทําให้อุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศา แทนที่ตัวจะมีเหงื่อกลับ แห้ง ตัวร้อนจัด พูดสับสนไม่รู้เรื่อง หากมีอาการดังกล่าว คือ “ฮีตสโตรก” (Heat stroke) ซึ่งอาจป่วยถึงขั้นเสียชีวิต

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *