สธ.สงขลา เตือนสูบบุหรี่รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
องค์การอนามัยโลกเตือนบุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษหลายชนิดสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา และสารปรุงแต่งในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้เสพติดบุหรี่ได้ง่ายขึ้นและเลิกสูบยากขึ้นด้วย ประชาชนและเยาวชนควรลด – เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงจากสารอันตรายและสารก่อมะเร็งจากบุหรี่
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ได้กล่าวว่า สารนิโคตินเป็นสารอันตราย ที่พบในบุหรี่ทุกชนิด รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า โดยทำหน้าที่เป็นตัวชี้นำให้เกิดการเสพติด และเป็นอันตรายส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้สูบและคนรอบข้าง เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง หัวใจบีบตัวแรงทำให้เกิดโรคหัวใจ ทำให้แผลหายช้า เนื่องจากนิโคตินทำให้เลือดไปเลี้ยงผิวหนังหดตัว กระตุ้นเซลล์มะเร็งให้โตเร็วขึ้น ทำให้ทารกในครรภ์น้ำหนักตัวน้อยลง มีความผิดปกติในโครงสร้างและการทำงานของสมองทารกในครรภ์ สำหรับประเทศไทยผลการวิเคราะห์สารเคมีในผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบารากู่ไฟฟ้า จำนวน 8 รายการ พบสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ โครเมียม แมงกานีส ทองแดง สังกะสี สารหนู แคดเมียม สารปรอท ตะกั่ว โพรไพลีน ไกลคอล เมนทอล ไซโดเฮกซานอล และกลีเซอรอล โดยสารดังกล่าวมีทั้งโลหะหนักที่เป็นสารอันตรายและสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง แต่กลายเป็นสิงห์อมควันที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา และ 2 ใน 3 ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือเป็นครั้งคราวเมื่อหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า เด็กและเยาวชนที่ สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสพัฒนาไปสูบบุหรี่ธรรมดาในอนาคตสูงถึง 2 -12 เท่า
สถานการณ์การควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทยพบว่า ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกเมื่ออายุ 18 – 22 ปี และสูบจนเป็นปกติวิสัยเมื่ออายุ 19 -22 ปี (การสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ กองสถิติแห่งชาติ ปี 2564) ส่วนจังหวัดสงขลาอัตราการบริโภคยาสูบ ปี 2554 ร้อยละ 22.80 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบ กับปี 2560 ที่มีอัตราการบริโภคยาสูบร้อยละ 25.30 โดยสูงกว่าอัตราการบริโภคยาสูบของประเทศและเขต (อัตรา 19.1 และ 23.8) และยังพบว่าอายุน้อยที่สุดที่เริ่มสูบบุหรี่คือ 12 ปี โดยปี 2560 จังหวัดสงขลา มีการบริโภคยาสูบเป็นอันดับ 6 ของประเทศ โดยวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก : “World No Tobacco Day” ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดประเด็นรณรงค์คือ “เราต้องการอาหาร ไม่ใช่ยาสูบ : we need food , not tobacco – Crowing sustainable food crop instead of tobacco” และประเทศไทยกำหนดประเด็นรณรงค์ว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย”
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสวันงดสูบบุหรี่ ปี 2566 จึงขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนร่วมดูแลสุขภาพตนเอง และสร้างสรรค์สังคมปลอดบุหรี่ด้วยการ ลด ละ เลิกบุหรี่ ทั้งนี้ ในการเลิกบุหรี่พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ที่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง จะใช้วิธีการหยุดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด การเลิกสูบบุหรี่ด้วยตนเองนั้น สามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ดังนี้ 1.สร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองอาจเกิดจากบุคคลที่เรารัก หรือสุขภาพของตนเอง 2.ขอคำปรึกษาจากคนใกล้ตัวเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ หรือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วน เลิกบุหรี่ โทร. 1600 สถาบันธัญญารักษ์ เเละคลินิกเลิกบุหรี่ตามสถานพยาบาลทั่วไป 3.ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง โดยกำหนดวันที่จะลงมือเลิกบุหรี่ เพื่อไม่ให้เกิดการผลัดวันประกันพรุ่ง 4.อย่ารอช้า ลงมือทันที เริ่มต้นด้วยการทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ทั้งหมด และหาสิ่งที่สามารถช่วยลดความอยากบุหรี่ไว้ใกล้ตัว เช่น ขนม ขบเคี้ยว ลูกอม หมากฝรั่ง ผลไม้รสเปรี้ยว 5.ห่างไกล สิ่งกระตุ้น ระหว่างที่อยู่ในช่วงของการเลิกบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการไปในสถานที่ที่เป็นเขตสูบบุหรี่ เเละสภาพแวดล้อมที่มีคนสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้อยากสูบบุหรี่ขึ้นอีก 6.ไม่หมกมุ่น ไม่ทำให้ตัวเองเครียด เมื่อรู้สึกเครียด ควรคลายความเครียดด้วยวิธีอื่น เช่น พูดคุยกับคนรอบข้าง หรืออ่านหนังสือที่ชอบ 7.ไม่หวั่นไหว ทำจิตใจให้มั่นคง ทบทวนถึงแรงจูงใจ หรือเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเลิกบุหรี่ ซึ่งจะทำให้มีกำลังใจและเกิดความมุ่งมั่นในการเลิกบุหรี่ต่อไป 8.หมั่นออกกำลังกาย ซึ่งนอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักยังช่วยทำให้สมองปลอดโปร่ง คลายความตึงเครียด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจเเละปอดได้อีกด้วย 9.ไม่ท้าทายบุหรี่ด้วยการกลับไปสูบอีกเป็นครั้งคราว เเม้ว่าจะนาน ๆ ครั้ง ก็ทำให้ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด 10.อย่าท้อกับการต้องเริ่มต้นใหม่ ควรให้กำลังใจตัวเองและพยายาม ท่องไว้เสมอว่า “ฉันจะเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ในปีนี้” สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ทุกสิทธิประโยชน์ได้เข้าถึงบริการและรับคำปรึกษา หรือสามารถโทรสายด่วนเลิกบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1600 หรือเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หากคนในครอบครัวเจ็บป่วยฉุกเฉิน และอุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถขอความช่วยเหลือจากสายด่วนนเรนทรสงขลา โทร 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง