Eco Block อิฐบล๊อกจากเปลือกเมล็ดยางพารา น้ำหนักเบา ลดใช้พลังงาน อิฐบล็อกรักษ์โลกผลงานคณะสถาปัตย์ ม.อ.ตรังรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมยางพารา

Eco Block คอนกรีตบล็อกจากเปลือกเมล็ดยางพารา รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมยางพาราจากงานมหกรรมยางพารา ครั้งที่ 1 จ.ตรัง เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากแนวคิดลดการใช้พลังงาน ลดมลภาวะจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งใช้พลังงานถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของทุกภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ อาจารย์วรวุฒิ มัธยันต์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เจ้าของผลงาน Eco Block คอนกรีตบล๊อกจากเปลือกเมล็ดยางพาราขยายความว่า ทุกกิจกรรมการก่อสร้างอาคารไม่ว่าจะกระบวนการผลิตวัสดุ ขนส่ง ขนย้าย หรือรื้อถอนติดตั้ง ล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ออกสู่ชั้นบรรยากาศทั้งสิ้น วัสดุ 3 ชนิดที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด ทั้งกระบวนการผลิต การขนส่ง การติดตั้ง การทำลาย คืออลูมิเนียม 2 เปอร์เซ็นต์ เหล็ก 10 เปอร์เซ็นต์ และ คอนกรีต 11 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเยอะที่สุด โดยเฉพาะคอนกรีตอิฐบล๊อกซึ่งเป็นที่นิยม เนื่องจากใช้งานง่าย ก่อสร้างง่าย รวดเร็ว แข็งแรง ราคาไม่สูงมาก

ข้อมูลเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ อ.วรวุฒิ คิดส่วนผสมคอนกรีตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซต์ ลดมลภาวะสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเล็งที่วัสดุหาง่ายในท้องถิ่นที่แทบไม่มีมูลค่าอย่างเช่น กะลาเมล็ดยางพารา เป็นส่วนผสมของอิฐบล๊อก ซึ่งมีองค์ประกอบของวัสดุมวลรวมหยาบและมวลรวมละเอียด วัสดุเหล่านี้มักได้มาจากการทำเหมืองหินปูน หินฝุ่น หินเกล็ด ซึ่งต้องยอมรับว่าการทำเหมืองก่อให้เกิดมลภาวะสิ่งแวดล้อมค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ และใช้พลังงานสูง ไม่ว่าจะน้ำมันในการขนส่ง หัวระเบิดไดนาไมน์ จากการศึกษาพบว่าวัสดุที่จะทดแทนคือวัสดุประเภทเซลลูโลสที่หาได้ในท้องถิ่นคือเปลือกของเมล็ดยางพารา นอกจากมีคุณสมบัติเป็ฯเซลลูโลส ยังน้ำหนักเบา มีเหลี่ยมคมที่แข็งแรงรับน้ำหนักก้อนคอนกรีตได้ ค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำคือมีความฉนวนกันความร้อนในตัว

โดย อ.วรวุฒิคำนวนให้เห็นว่า ยางพาราเนื้อที่ 1 ไร่ มีเปลือกเมล็ดยางพารา 12,000 เมล็ด อัตราส่วนผสมเปลือกยางพาราคือ 0.3 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ใช้อัตราส่วนซีเมนต์ 1 ส่วน ทราย 1.5 ส่วน วัสดุมวลรวมหยาบ 1.2 ส่วนและปลือกเมล็ดยางพาราบดละเอียด 0.3 เปอร์เซ็นต์ การใช้เปลือกยางพารามาก ตัวอิฐบล๊อกจะยิ่งมีน้ำหนักเบา ค่าน้ำความร้อนจะต่ำ ความมีเหลี่ยมคมทำให้มีพื้นผิวเยอะ ยึดเกาะกับปูนซีเมนต์ได้ดี อิฐบล๊อกเปลือกเมล็ดยางพารา น้ำหนัก 6.71 กก.ต่อก้อน ส่วนอิฐบล๊อกทั่วไปน้ำหนักต่อก้อนประมาณ  7 กก.น้ำหนักที่ลดลงช่วยทำให้น้ำหนักโครงสร้างของอาคารลดลงด้วย การออกแบบโครงสร้างก็ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ลดวัสดุโครงสร้างหลัก ประหยัดเหล็กเสริม ส่วนด้านราคานั้นคอนกรีตบล๊อกทั่วไปก้อนละ 7.62 บาท อีโค่บล๊อกราคาถูกกว่าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เหลือราคาต่อก้อนประมาณ 6.10 บาท ค่าการรับน้ำหนักผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมของคอนกรีตบล๊อกประเภทรับน้ำหนัก ค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนจะอยู่ที่ 0.529 ส่วนอีโค่บล๊อคจะอยู่ที่ 0.4079 ค่าที่ลดลงแสดงถึงการมีคุณสมบัติการเป็นฉนวนที่เพิ่มขึ้น ป้องกันความร้อนได้ดี ถ้าในเขตหนาวก็ป้องกันความหนาวได้ดี ส่วนผลการทดสอบอุณหภูมิภายในอาคาร คอนกรีตบล๊อกโดยทั่วไปอุณหภูมิเฉลี่ยจากกการทดสอบประมาณ 3 เดือน เฉลี่ยที่ 38.06 องศาเซลเซียส (ทดสอบเดือนเมษายนและพฤษภาคม )อาคารที่ก่อด้วยอีโค่บล๊อกจะอยู่ที่เฉลี่ย37.02 องศาเซลเซียส ต่างกัน 1 องศา ร่างกายมนุษย์รับรู้ได้

อ.วรวุฒิ ใช้เวลาในการทำวิจัยประมาณสองปี ปรับสูตรตั้งแต่ใส่เปลือกเมล็ดยางพาราบด 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 15 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป้าหมายของการทดสอบคือใช้เปลือกยางพาราผสมในอิฐบล๊อก มากที่สุดโดยความแข็งแรงผ่านมาตรฐาน มอก. ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญคือสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตEco Blockให้ผู้ผลิตในท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการผลิตแบบเดิม วิธีการและวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว เพียงแค่ใส่เปลือกเมล็ดยางพาราป่นเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเท่านั้น

ผู้สนใจเทคโนโลยีการผลิต “Eco Block” อิฐบล๊อกจากเปลือกเมล็ดยางพารา ติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์วรวุฒิ มัธยันต์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตตรัง โทร. 075-201707

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *