ม.อ. จัดกิจกรรมเผยแพร่งานบริการวิชาการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และมอบอุปกรณ์เครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูการพัฒนาปัญญาฐานกาย

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุม EILA 5 ชั้น 8 อาคารทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลงฯ อาคาร 1 (LRC1) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรมเผยแพร่งานบริการวิชาการกับการพัฒนาที่ยั่งยืน มอบอุปกรณ์เครื่องวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อฟื้นฟูการพัฒนาปัญญาฐานกาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมงานบริการวิชาการ ม.อ. กับการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระยะ 20 ปี การดำเนินงานเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ที่ 2 ความเป็นผู้นำทางวิชาการ พันธกิจ 2.3 พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม โดย สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (สมส) ผลการดำเนินงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ดำเนินงานระหว่างปี 2562 ถึงปัจจุบัน (4 ปี) สมส. ได้ดำเนินงานด้านพันธกิจสังคมที่มีผลกระทบสูง จำนวน 19 เรื่อง หนุนเสริมงานการพัฒนาชุมชน เชิงพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานคร และจังหวัดขอนแก่น มุ่งเน้นงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย สร้างหลักประกันให้ทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนให้เกิดโอกาส ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขจัดความยากจน การส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดีสำหรับคนทุกช่วงวัย มุ่งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สำหรับการดำเนินงานงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ เป็นภารกิจที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับแหล่งทุนจากส่วนกลางและเครือข่ายจัดการศึกษาในพื้นที่ เพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีโค้ชด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก จิตตปัญญา การพัฒนาปัญญาฐานกาย และมีองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่เป็นอย่างดี ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ได้ประสานแหล่งทุนเพื่อจัดกิจกรรมโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาคใต้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว จำนวน 14 โครงการ ได้รับทุนสนับสนุนจาก 5 แหล่งทุน มีโรงเรียนเป้าหมายได้รับการพัฒนาในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้

จากการดำเนินงานโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ของ ม.อ. ร่วมกับ กสศ. เมื่อ ปึ 2565 มีการสำรวจนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ของนักเรียน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ พบว่า นักเรียน ร้อยละ 98 มีค่าแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งมีค่ามาตรฐาน เท่ากับ 19 กิโลกรัม เมื่อสำรวจข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดสงขลา เมื่อ วันที่ 7-14 มิถุนายน พ.ศ. 2566 สำรวจวัดแรงบีบมือนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-3) รวมจำนวนทั้ง 557 คน (ร้อยละ 84) จากนักเรียน จำนวน 662 คน ประกอบด้วย นักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 163 คน (198 คน) นักเรียนชั้น ป.2 จำนวน 197 คน (244 คน) และนั กเรียนชั้น ป.3 จำนวน 197 คน (220 คน) จาก 20 โรงเรียน พบว่า นักเรียนร้อยละ 99.0 มีค่าแรงบีบมือต่ำกว่าค่ามาตรฐาน (หรือมีค่าเฉลี่ยของนักเรียนที่วัดแรงบีบมือ เท่ากับ ป.1= 8.04 กิโลกรัม ป.2 =10.08 กิโลกรัม และ ป.3= 11.72 กิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานกำหนดไว้) ส่งผลให้นักเรียนเขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนได้ไม่ดี ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กซึ่งวัดค่าจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือนั้น มีความสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาท เพราะใช้ทั้งเขียนหนังสือ เล่นเครื่องดนตรี หยิบจับของต่าง ๆ ไปจนถึงช่วยเหลือตนเอง ใช้ชีวิตประจำวัน และการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ มีความสำคัญในการทรงตัว พยุงตัว มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเช่นกัน นอกจากนั้น และจากการสำรวจลงพื้นที่ของโค้ชการศึกษาพบว่า นักเรียนมากกว่าร้อยละ 50 มีการจับดินสอผิดวิธี สะท้อนว่า กล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ดี การทรงตัวในการเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จช้า ทำงานไม่ทัน เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กมือเกร็งมาก เมื่อยมือ ทำให้ต้องปล่อยมือจากดินสอเป็นระยะ ๆ มีบางโรงเรียนในโครงการทราบปัญหา และนำมาแก้ไขโดยการจัดกิจกรรมพัฒนาฐานกาย จัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง พบว่า ภายในสองสัปดาห์ จะให้เกิดผลการฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อของนักเรียนได้

ด้วยปัญหาและสถานการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้เห็นความสำคัญในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนในระดับประถมศึกษาตอนต้น ถ้าหากครูมีเครื่องมือวัดความเข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กสามารถประเมินได้ ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ ทำให้สามารถวางแผนจัดกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงสนับสนุนเครื่องมือ และองค์ความรู้การพัฒนาปัญญาฐานกาย และทำให้ครูรู้วิธีการวัดประเมินผลเปรียบเทียบและนำไปพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้

กิจกรรมในวันนี้ มีโค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัย แพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก ได้ให้องค์ความรู้เพื่อเป็นแนวทาง  ในการพัฒนาให้ครูนำไปใช้ได้ และจะมีการติดตามให้คำแนะนำในการวัดดประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลในการพัฒนาฐานกายของนักเรียนให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ เพราะการพัฒนาการที่ล่าช้าในวัยอนุบาลถึงประถมต้น กับการพัฒนาปัญญาฐานกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ในเด็ก การประเมินตั้งแต่แรกเริ่มทำให้ครูผู้สอนวางแผนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โรงเรียนที่ได้รับมอบอุปกรณ์ในวันนี้ มีโรงเรียนในจังหวัดสงขลา 53 แห่ง เครื่องมือ จำนวน 100 ชุด ทำให้ครูสามารถนำไปใช้วัดประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือของนักเรียนในโรงเรียนเป้าหมาย จำนวน 6,204 คน

ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ งานพันธกิจสังคมเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ มีหน่วยงานต้นสังกัด โรงเรียน เครือข่ายทุกภาคส่วน ได้ร่วมดำเนินการระดมทรัพยากรเพื่อร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน แต่เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ดังนั้น ความร่วมมือกันทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน จึงเป็นแนวทางที่จะทำให้งานบรรลุเป้าหมายอันสำคัญเพื่อจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีองค์ความรู้ มีวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย สามารถสนับสนุนการทำงานด้านการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนในพื้นที่ภาคใต้

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในพื้นที่ภาคใต้กับหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ เพื่อเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนอย่างเต็มศักยภาพ สร้างเยาวชนในมีทักษะศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้พัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพการเรียนรู้ให้ทัดเทียมกับพื้นที่อื่น ๆ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุณภาพในการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *