หาดใหญ่จัดอีเวนต์อย่างไร ไม่ต้องปิดถนนสายหลัก? สรุปความจากวงคุยธุรกิจสร้างสรรค์

หลายครั้งคงปฏิเสธได้ยากว่าการจัดงานอีเวนต์ หรือกิจกรรมในตัวเมืองตามเทศกาลสำคัญจะมาคู่กับการ “ปิดถนน” เพื่อจัดกิจกรรม ตั้งเวที หรือตกแต่งแสงสีและไฟในพื้นที่ และเพื่อปิดการสัญจรของรถ และอำนวยความปลอดภัย ความสะดวกให้ผู้ร่วมงาน

ผลอีกด้านหนึ่งที่ต้องยอมรับเช่นกันคือ วิถีชีวิตและการจับจ่ายใช้สอยเดิมในพื้นที่ย่อมเปลี่ยนไปชั่วคราว เช่นเดียวกับปัญหาเส้นทางสัญจร หากพื้นที่ไหนปิดถนนใกล้โรงเรียน ย่านที่อยู่อาศัย หรือย่านการค้า ย่อมต้องหาเส้นทางสัญจรใหม่ หากการบริหารจัดการทำได้ไม่เต็มที่หรือไม่มีขนส่งสาธารณะอำนวยความสะดวกการเดินทางเพียงพอ เสียงวิจารณ์อาจเซ็งแซ่มากกว่าเสียงชื่นชม

‘สถานีวิทยุ ม.อ. หาดใหญ่’ สรุปความจากวงคุย “หาดใหญ่จัดอีเว้นท์โดยไม่ต้องปิดถนนหลัก ได้หรือไม่?” ร่วมเสนอมุมมองจากวิทยากร 6 คนในภาคธุรกิจสร้างสรรค์ จัดโดย Tuber Thailand เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 

และย่อหน้าต่อจากนี้คือความพยายามร่วมกันหาคำตอบ เสนอแนะอย่างอย่างเป็นรูปธรรม ชวนคิด และหลายประเด็นเชื่อมโยงไปมากกว่าแค่ข้อถกเถียงเรื่อง “ปิดถนน”

“ต้องยอมรับว่าการจัดงานมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ”

‘อาร์ต-พิชญ ศีลรักษา’ ครีเอทีฟดีไซเนอร์ จาก Intention Organizer ตัวตั้งตัวตีเบื้องหลังหลายงานอีเวนต์สร้างสรรค์ในหาดใหญ่ ชวนเชื่อมโยงถึงภาพใหญ่ ก่อนจะลงลึกในรายละเอียดของตัวเลือก “ปิดถนน” เพื่อจัดงานอีเวนต์  

อาร์ต พิชญ ศีลรักษา /ภาพ: Tuber Thailand

‘พิชญ’ มองว่าวิธีคิดในการออกแบบงานอีเวนต์ควรคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ

หนึ่ง กลุ่มเป้าหมายของงาน ‘พิชญ’ มองในส่วนนี้ว่าการจัดงานควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดว่าเป็นใคร เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนดรายละเอียดแกนกลางของงานที่ตามมา

“เราต้องยอมรับความจริงว่าโลกทุกวันนี้ เราไม่สามารถทำของสิ่งหนึ่ง และขายให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพได้ เราต้องโฟกัสให้ชัดว่ากลุ่มเป้าหมายเราคือใคร” ครีเอทีฟดีไซเนอร์ประสบการณ์กว่า 2 ทศวรรษกล่าว

สอง จุดแข็งและเอกลักษณ์ของชุมชน ที่งานอีเวนต์นั้นจะจัดขึ้น เพื่อนำมาเป็นข้อความหลักเพื่อต่อยอดออกแบบกิจกรรมและการรณรงค์สื่อสาร และส่วนสุดท้ายคือ ความเหมาะสมและสอดคล้อง กับคนในพื้นที่ชุมชน และบริบทของเมืองที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

‘พิชญ’ มองว่าในข้อคำนึง 3 ส่วนนี้ของการออกแบบงาน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือกระบวนการศึกษาหาข้อมูล และการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่และชุมชนที่ร่วมทำงานด้วยกัน 

“เราต้องยอมรับให้ได้ว่า การจัดงานมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่เมื่อไหร่ที่แก่นของสิ่งที่เราทำถูกต้อง จะมีคนยอมรับ และพร้อมร่วมไปกับเรา”

พิชญ ศีลรักษา อธิบายแนวคิดจัดงานในพื้นที่ตึกโคมแดง

เมื่อเชื่อมโยงกระบวนการเบื้องหลังงานอีเวนต์กับประเด็นการปิดถนน ‘พิชญ’ ชวนย้อนถามคำถามสำคัญว่า “เหตุใดต้องปิดถนนสายหลักในการจัดงาน?”

‘พิชญ’ พยายามเสนอคำตอบจากบริบทตัวเมืองหาดใหญ่-สงขลา ว่าอาจเป็นเพราะ หนึ่ง หาดใหญ่ขาดพื้นที่สำคัญจัดงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ หรือ สอง การปิดถนนเหมือนกับการ “เปิดร้าน” ในพื้นที่ผู้คนอยู่จำนวนมากหรือพื้นที่ถนนสายหลักสำคัญจะเพิ่มความรับรู้และเข้าถึงตัวงาน

อย่างไรก็ตาม แม้ ‘พิชญ’ จะมองว่าการปิดถนนเพื่อจัดงานหรือไม่นั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่โจทย์สำคัญคือการสื่อสารและทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 

“ผมมีคนรู้จักที่ทำธุรกิจในตัวเมือง ผมจะบอกเลยว่าทุกครั้งที่มีอีเวนต์ปิดถนน ร้านค้าเดิมในพื้นที่เหล่านั้นจะขายไม่ได้ อันนี้คือเรื่องจริง ถ้าทุกคนยอมรับความจริง แปลว่าโจทย์เราผิดหรือเปล่า” ‘พิชญ’ ตั้งคำถามจากสภาพปัญหาของงานอีเวนต์ซึ่งปิดถนนและมีร้านค้าภายนอกเข้ามาจัดจำหน่ายในพื้นที่เดิม

‘พิชญ’ เสนอปิดท้ายถึงภาพใหญ่ของการจัดงานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ว่าควรเน้นความเป็นสากลที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วประเทศ และประเทศอื่นของโลก และการจัดงานควรสร้าง “ประสบการณ์ใหม่” ให้กับผู้มาเยี่ยมชม เพื่อสร้างความประทับใจในระยะยาว

“ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หรือพัทยา คําว่านักท่องเที่ยวของเขาคือความเป็นสากล คนจากทั่วประเทศ หรือคนจากยุโรป แต่เรากําลังทําตัวให้เล็ก และการจัดงานต้องมีประสบการณ์น่าสนใจ ต้องมีเรื่องราวที่มันมี impact พอจะดึงดูดให้เขามา ไม่ใช่เป็นแค่การปิดถนนเอาแม่ค้าขายของ คนที่มาเดินเสร็จเขาก็กลับ” ครีเอทีฟดีไซน์เนอร์กล่าวทิ้งท้ายเพื่อเสนอต่อสังคม 

บทเรียนจากโควิด-19 เปลี่ยน ‘อีเวนต์’ เป็น ‘เทศกาล (festival)’

การจัดงานอีเวนต์เพื่อส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังผ่านวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ราว 3 ปี หาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองที่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งด้วยหลักฐานรถบัสและคณะนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่บทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่เมืองแทบจะเงียบสงบคืออะไร?

‘ชาย-สมพล ชีววัฒนาพงศ์’ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา เผยข้อมูลด้านนี้ว่าสัดส่วนของนักท่องเที่ยวซึ่งเข้ามาในจังหวัดสงขลานั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียอยู่ที่ราว 80-90 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และคนไทยภายในประเทศ 

‘ชาย-สมพล ชีววัฒนาพงศ์/ ภาพ: Tuber Thailand

ภาพรวมตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ หกหมื่นล้านบาทต่อปี และในปี 2566 ตัวเลขอยู่ที่ราว สามหมื่นห้าพันล้าน จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันราวครึ่งต่อครึ่ง

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สงขลา มองว่าบทเรียนสำคัญจากการล็อคดาวน์เมืองและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ การพึ่งพิงการท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียมากจนเกินไป และเผยว่าขณะนี้มีความพยายามส่งเสริมเที่ยวบินจากประเทศรอบข้าง เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ให้บินตรงมาพื้นที่สงขลา เพื่อเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น

หากมองถึงแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะยาว ‘สมพล’ ตั้งคำถามเชิงเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นที่มีจุดเด่นด้านการกีฬา เช่น บุรีรัมย์ หรือ ด้านการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ว่าจังหวัดสงขลามีจุดเด่นอย่างไร ที่จะส่งเสริมให้เป็นการท่องเที่ยวระยะยาว

“ถ้าเราเอาหาดใหญ่ไปเทียบกับ เมืองอื่นๆเราต้องตีโจทย์ว่าเราจะขายอะไร ถ้าไปเที่ยวทะเลเราคงขายกับเขาแข่งกับ ภูเก็ตหรือสมุยยาก หรือเชียงใหม่ ด้านวัฒนธรรมเราก็อาจจะสู้เขาไม่ได้ผมก็เลยมองว่า ถ้าเราสามารถที่จะนําเสนอสินค้า ที่เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ แล้วตอบโจทย์กับลูกค้า” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สงขลากล่าว

หนึ่งในข้อเสนอด้านวิธีการของ ‘สมพล’ ซึ่งสอดคล้องกับหลายนโยบายของรัฐบาลส่วนกลางในตอนนี้คือ ขยายจากงานกิจกรรมระยะสั้น (อีเวนต์) เป็น ‘เทศกาล (festival)’ จากจุดเด่นและเอกลักษณ์ของพื้นที่และสามารถกระจายพื้นที่การจัด ช่วงเวลา ระยะเวลาได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะเจาะจงเท่านั้น 

‘สมพล’ ยกตัวอย่างการจัดงาน ปักษใต้ดีไซน์วีค (Paktaai Design Week) เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งกระจายการจัดงานไปตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้ตั้งแต่ จังหวัดตรัง สงขลา ปัตตานี  ความพยายามผลักดันหาดใหญ่ให้เป็นเมืองแห่งอาหาร (gastronomy city)  หรือการเป็นไมซ์ซิตี้ (MICE City – เมืองที่รองรับกิจกรรมเชิงธุรกิจ เช่น สัมมนา ประชุมนานาชาติ) 

เหล่านี้คงเป็นสิ่งที่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานรัฐจากเสียงประชาชนต้องหาทางออกร่วมกัน ว่าเราต้องการเห็น ‘อนาคต’ เมืองหาดใหญ่ไปทางไหนต่อ

พื้นที่ใหม่ ภาพจำใหม่ และเอกลักษณ์ของเมือง

หลังจากแลกเปลี่ยนด้านอนาคตภาพรวมของหาดใหญ่  ‘ออส-มนตรี เหมวุฒิสกุล’ CEO บริษัท เซเว่นทีนสตูดิโอ บริษัทด้านการตลาดและสื่อออนไลน์ ชวนเสริมมุมมองที่ต่อยอดคำถามถึงการปิดถนนเพื่อจัดงานอีเวนต์ตามเทศกาล

  ออส-มนตรี เหมวุฒิสกุล / ภาพ: Tuber Thailand

‘มนตรี’ มองว่าการปิดถนนเพื่อจัดงานอีเวนต์ใหญ่ตามเทศกาลจะส่งผลถึง ‘ภาพจำ’ และเอกลักษณ์ของเมืองหาดใหญ่ที่ทั้งคนภายในพื้นที่และผู้มาเยือนมีให้ต่อเมือง

“ภาพจําของเราเวลาจัดงาน คนมักจะนึกถึง ถนนเสน่หานุสรณ์ หน้ากว้างถนนอยู่ที่ 12 เมตร ลึกเข้าไปจากสามแยกโอเดียนถึงหน้าโรงแรมลีการ์เดน  170 เมตร จากนั้นเราก็มาจัดที่ถนนนิพัฒน์อุทิศ 3 หน้ากว้างและความลึกเท่ากัน และมักจะเกิดคำถามว่าทำไมไม่ไปจัดที่อื่น”

‘มนตรี’ ยกตัวอย่างสถานที่ซึ่งมักถูกยกขึ้นมาเป็นตัวเลือก เช่น บริเวณสนามกีฬากลางจิรนคร หรือ ลานหน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ แต่มักจะติดปัญหาด้านระเบียบการห้ามจัดงานใกล้โรงพยาบาล-โรงเรียน หรือกฎระเบียบและการดำเนินการเอกสารซึ่งหลายครั้งมักไม่สอดรับกันกับระยะเวลาดำเนินงานของหน่วยงานที่ต้องการจัดอีเวนต์

‘มนตรี’ ชวนเปิดประเด็นใหม่ด้วยข้อเสนอตัวเลือกการจัดงานอีเวนต์ให้รถวิ่งทางเดียว หรือปิดถนนบางส่วนและมีพื้นที่จัดงานได้ เช่น บริเวณถนนย่านเยาวราช แต่อาจต้องมีการเพิ่มการดูแลความปลอดภัยด้านยานยนต์มากขึ้น

“ถ้าเราปิดถนนไปแล้ว หมายถึงคนที่อยากมาดูว่าในงานมีอะไรบ้างจะไม่เห็นเลย หรือ ถ้ารู้ว่ามีงานปิดถนน ก็จะเลี่ยงเส้นทางนั้นไปเลย แต่ยกตัวอย่าง ถนนเยาวราชจะปล่อยให้รถวิ่งผ่านได้ เราก็จะเห็นข้างทางว่ามีร้านอะไรบ้าง” 

‘มนตรี’ ยังเสนอการรวบรวมฐานข้อมูลของการจัดงาน เช่น ข้อมูลผู้มาร่วมงาน ความเหมาะสมของถนนแต่ละเส้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลร่วมกันเพื่อพิจารณาความเหมาะสมสำหรับหน่วยงานที่จะมาจัดอีเวนต์เพื่อปรับเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับพื้นที่และบริบทเมืองได้มากขึ้น 

“อีเวนต์แบบไม่ใช่อีเวนต์” สร้างเศรษฐกิจจากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่

‘เชอรี่-นิศานารถ ติรางค์กูร’ พิธีกรและบริษัทอีเวนต์ dream factory เสนอแนวทางนอกจากจัดงานอีเวนต์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งต้องปิดถนน เป็นการเริ่มต้นทำงานกับชุมชนเพื่อพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ และสอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวให้เป็น “การจัดอีเวนต์ที่ไม่ใช่อีเวนต์”

เชอรี่-นิศานารถ ติรางค์กูร/ ภาพ: Tuber Thailand

‘นิศานารถ’ ยกตัวอย่างกระแสการแต่งชุดไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสนอถึงความเป็นไปได้ที่วัดในหาดใหญ่ เช่น วัดโคกสมานคุณซึ่งเป็นพระอารามหลวง จะเกิดธุรกิจด้านนี้ในชุมชน และต่อยอดเพื่อส่งเสริมธุรกิจด้านอื่นของเมืองได้ เช่น ธุรกิจรถโดยสารเพื่อรับส่งต่อยอดการท่องเที่ยว หรือส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาที่ศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมและการสื่อสารให้มาร่วมงานกับชุมชน 

นอกจากการส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ‘นิศานารถ’ ยังมองว่าควรเสริมข้อมูลการประชาสัมพันธ์หรือคู่มือการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มากับกลุ่มทัวร์

“บ้านของเชอรี่อยู่ใจกลางเมือง เราจะเห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง เขาพยายามเดินออกนอกพื้นที่เดิมที่เขามักจะมาเที่ยว เช่น บริเวณถนนเสน่หานุสรณ์ แต่พอออกนอกบริเวณที่คุ้นเคยเขาจะเริ่มงงว่าควรเดินไปทางไหนต่อ”

‘นิศานารถ’ ยังเสนอถึงการส่งเสริมต้นทุนทางวัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อมในหาดใหญ่ คือ ‘เขาคอหงส์’ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงแอดเวนเจอร์ (adventure) เช่น การเดินเทรล ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาในพื้นที่จังหวัดมากขึ้นกว่ากิจกรรมที่มักจะจัดตามช่วงเวลา รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วง low-season ได้เช่นกัน

ขนส่งสาธารณะ – กุญแจสำคัญลดความแออัด กระตุ้นเศรษฐกิจ

‘หมิว ปณรรฐนนท์ เฉลียวพงศ์’ จากบริษัท VMKM Digital Marketing ผู้อยู่เบื้องหลังงานอีเวนต์ใหญ่ในภาคใต้อย่าง ‘สาดกันใหญ่’ หรือ ‘พุ่งใต้เฟส’ มองความจำเป็นถึงการปิดถนนเส้นหลักในเมืองว่าเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย และ ความเป็นศูนย์กลางเมืองซึ่งใกล้กับแหล่งที่พักอาศัยและโรงแรม

‘หมิว ปณรรฐนนท์ เฉลียวพงศ์’/ ภาพ: Tuber Thailand

อย่างไรก็ตาม ‘ปณรรฐนนท์’ ได้สะท้อนประเด็นนี้จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทจากกรุงเทพฯ ซึ่งต้องหาพื้นที่จัดอีเวนต์ขนาดใหญ่เพื่อรองรับปริมาณคนราว 2-3 หมื่นคน และการจัดพื้นที่รองรับคนจำนวนดังกล่าวอาจเป็นไปได้ยากในพื้นที่ใจกลางเมือง

‘ปณรรฐนนท์’ เผยว่าอุปสรรคที่พบคือ แนวโน้มการจราจรติดขัด หากจัดอีเวนต์ขนาดใหญ่ และหากต้องการเลี่ยงความแออัดและผลกระทบในตัวเมืองและเลือกจัดในงานพื้นที่รอบนอกแล้ว กลับพบปัญหาด้านขนส่งสาธารณะในพื้นที่หาดใหญ่ ซึ่งไม่สามารถเชื่อมโยงผู้คนไปจุดอื่นๆ นอกจากตัวเมืองชั้นในได้ 

ตัวแทนจากบริษัทมาร์เก็ตติ้งมองถึงประเด็นขนส่งสาธารณะนี้เชื่อมโยงไม่เพียงแค่การจัดงานอีเวนต์เท่านั้น แต่ยังเป็นถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระจายไปตามหลายพื้นที่ด้วยความสะดวกในการเดินทางเพิ่มขึ้น

“เรามองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจหาดใหญ่ ถ้าเรามีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี วิ่งมารับนักท่องเที่ยวกลางเมือง หรือวิ่งรอบเมือง หรือเพื่อโดยสารระหว่างภายใน-นอกเมือง รับนักท่องเที่ยวในเมืองที่อยู่โรงแรม เหล่านี้อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านี้”

รับฟังคนในพื้นที่ สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ

‘ขนุน-สุตาภัทร ชากรี’ จาก Hatyai Connext บริษัทด้านการสื่อสารและผลิตคอนเทนต์ เสนอว่าการจัดอีเวนต์ควรให้ความสำคัญถึงกระบวนการทำงานก่อนออกมาเป็นตัวงานจริง และหนึ่งในกระบวนการนั้นคือการสื่อสารเพื่อรับฟังเสียงของชุมชนและคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่ที่จะเข้าไปจัดกิจกรรม 

ขนุน-สุตาภัทร ชากรี/ ภาพ: Tuber Thailand

‘สุตาภัทร’ ยกตัวอย่างการจัดงาน ‘ปักษ์ใต้ ดีไซน์วีค’ ซึ่งทีมของตนรับผิดชอบจัดนิทรรศการในตลาดกิมหยง ‘สุตาภัทร’ เผยว่าตนต้องผ่านการทำงานพูดคุย และอธิบายวัตถุประสงค์ของตัวงานหลายครั้ง กว่าเจ้าของพื้นที่และร้านค้าในพื้นที่ตลาดกิมหยงจะเข้าใจจุดประสงค์และให้ความร่วมมือ 

“คนในตลาดคงคิดว่าเราจะมาจัดอีเวนต์ไฟ จัดแสง โปรดักชันใหญ่โต อาจกังวลว่ารบกวนการค้าขายหรือไม่ เราใช้เวลาไม่ต่ํากว่า 10 ครั้งเพื่อสื่อสาร ทั้งผ่านเจ้าของตลาด เสมียน หรือกลุ่มไลน์ และเอาตัวอย่างไปให้ดู จัดแสงอย่างไร จัดไฟแบบไหน ฯลฯ”

‘สุตาภัทร’ มองว่า แม้หลายงานในตัวเมืองหาดใหญ่อาจมีการเตรียมงานและสื่อสารกับคนในชุมชน ระยะเวลาสั้น-ยาวต่างกันไป แต่ตนยังยืนยันความสำคัญของการสื่อสารเพื่อความเข้าใจระหว่างผู้จัดงานและคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบและมีส่วนได้ส่วนเสีย

“ถ้าคนในพื้นที่รู้สึกมีส่วนร่วมกับงานเมื่อไร เขาจะเต็มใจและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกับงานนี้ด้วย เขาจะรู้สึกว่า วิน-วินทั้งคู่ เรามองว่านี่คือสิ่งสําคัญ คำถามว่าจะจัดตรงไหน จะปิดถนนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกระบวนการทำงานร่วมกันและเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร” 


เรื่อง: กองบรรณาธิการ


อ่านต่อ

สงขลา ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ ลำดับที่ 6 ก้าวสู่เมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศนาการ

ผู้ประกอบการภาคใต้สนใจคราฟต์เบียร์สายพันธุ์ไทยจากข้าวพื้นเมือง พุ่งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังซื้อสูง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *