ม.สงขลานครินทร์ ร่วมเป็นแหล่งวิชาการด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทะเลสาบ เพื่อนำ “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก”

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการประสานงานจากภาคีคนรักเมืองสงขลา เพื่อร่วมมือในการดำเนินการและผลักดันโครงการ  “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” โดยรับผิดชอบในส่วนของข้อมูลด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา โดยมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งในจังหวัดสงขลาเข้าร่วมในฐานะแหล่งวิชาการ ด้านศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม  ชุมชน และการท่องเที่ยว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพัตรา เดวิสัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้จัดกลุ่มเมืองมรดกโลก ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และ กลุ่มธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเริ่มต้นของโครงการ “สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” ในระยะแรกได้มุ่งไปที่ย่านเมืองเก่าของสงขลา และได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังได้มองว่าความเป็นเมืองเก่าของสงขลาอย่างเดียวอาจไม่ได้ทำให้มีความโดดเด่นสำหรับการเป็นมรดกโลก ซึ่งจังหวัดสงขลามีทะเลสาบสงขลาซึ่งรวมความโดดเด่นด้านธรรมชาติและความหลากหลายอยู่ด้วย จึงขยายพื้นที่การพัฒนาข้ามทะเลสาบสงขลาไปยังบางส่วนของเกาะยอและหัวเขาแดง ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ที่มีทั้งประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ อาชีพ และมีความเป็นเอกลักษณ์ของทะเลสาบที่มีลักษณะเป็น lagoon หรือ แหล่งน้ำตื้นชายฝั่งที่แยกจากทะเลโดยการกั้นของเนินทรายซึ่งเปิดออกสู่ทะเลได้แห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งจะมีโอกาสได้รับการขึ้นบัญชีเป็นเมืองมรดกโลกมากกว่า

ภาคีคนรักเมืองสงขลา จึงได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีนักวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจและมีบทบาทเรื่องทะเลสาบสงขลามีเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เห็นความสำคัญและยินดีให้ความร่วมมือ โดยมอบหมายให้ ศูนย์อาเซียนศึกษา ดร.ถนัด คอมันตร์ รับผิดชอบเรื่องนี้ ร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น และได้มีการประสานงานกับหน่วยงานและนักวิชาการที่มีบทบาทเชี่ยวชาญเรื่องข้อมูลทะเลสาบสงขลา ในหลายคณะ เช่น วิทยาศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และ นิติศาสตร์ เพื่อปรับวิธีการนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้ให้ง่ายต่อความเข้าใจและเข้าถึงชุมชนมากขึ้น  เพื่อการใช้ประโยชน์ในทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน โดยทางเลือกที่เราจะให้กับชุมชนคือเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งจะต้องประสานงานกับหลายหน่วยงานทั้งเรื่องกฎหมายทางน้ำ สิ่งแวดล้อมทางน้ำ

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปสู่มรดกโลก ต้องใช้เวลานานพอสมควร และต้องมีการประสานงาน พูดคุยกับผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมเจ้าท่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันให้เกิดความยั่งยืนและเกิดประสิทธิภาพ ในการเสนอโครงการต้องเสนอผ่านหน่วยงานระดับประเทศคือ กรมศิลปากร และ สำนักงานแผนและนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งขั้นตอนการขึ้นบัญชีเป็นเมืองมรดกโลกของ UNESCO ต้องมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลานานพอสมควร

การได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก เป็นการแสดงว่าเราได้รับการยอมรับในความโดดเด่น เป็นที่รู้จักและปรากฏอยู่ในแผนที่โลก จะได้รับการดูแลจากภาครัฐและการสนับสนุนงบประมาณโครงการที่เกี่ยวข้อง เกิดการพัฒนาด้านรายได้ชุมชน ความหวงแหนและอนุรักษ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และจะเกิดเครือข่ายเชื่อมโยงความรู้กับนักวิชาการระดับนานาชาติ เป็นต้น