Trigger Warning: มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายและการฆ่าตัวตาย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ‘โรคซึมเศร้า’ เป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาพูดคุยและสื่อสารกันตรงไปตรงมามากขึ้น แต่ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในปี 2566 กลับพบแนวโน้มผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น และการเข้าถึงการรักษาอยู่ที่เพียงร้อยละ 28 เท่านั้น เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม
‘PSU I SEE’ สรุปความจากการพูดคุยกับ รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธ์วิทยากุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อชวนทบทวนความเข้าใจ ‘โรคซึมเศร้า’ เพราะสุขภาพจิตสำคัญไม่แท้สุขภาพกายที่เราทุกคนใส่ใจดูแล
โรคซึมเศร้าคืออะไร? ถึงจุดไหนควรรักษา?
‘สุขภาพ’ มีทั้งสุขภาพกาย และ สุขภาพใจ เมื่อเราเจ็บป่วยทางกายได้ ก็มีเจ็บป่วยทางใจได้เช่นกัน และโรคซึมเศร้าเป็นช่วงเวลาที่สุขภาพใจเราเจ็บป่วย
หากลองสำรวจตัวเองหรือชักชวนเป็นห่วงคนรอบกาย หากมีอาการหรือพฤติกรรม จาก 5 ใน 9 อย่างนี้ หรือ 9Q ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาจเข้าข่ายตามเกณฑ์ของการวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าและควรพบแพทย์ คือ
- รู้สึกเบื่อ เศร้า อยากเก็บตัวอยู่คนเดียว
- รู้สึกเลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบ
- เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร: เช่นกินมากขึ้นหรือน้อยลง จนน้ำหนึกขึ้นลงจนผิดปกติ
- นอนหลับๆ ตื่นๆ หลับยาก เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอน เช่น นอนมากขึ้นหรือน้อยลง
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- มีความตื่นตระหนก กระสับกระส่าย พูดหรือทำสิ่งต่างๆ ช้า จนคนอื่นสังเกตได้
- มีสมาธิน้อยลงเมื่อต้องใช้ความตั้งใจ
- รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง กลัวล้มเหลวหรือทำให้คนรอบข้างผิดหวัง
- มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
‘โรคซึมเศร้า’ จะแตกต่างจาก ‘อารมณ์ซึมเศร้า’ ซึ่งอารมณ์เป็นสิ่งที่พบได้ทุกคน ทั้งความสุข ความเศร้า ความโกรธ อารมณ์ซึมเศร้าคือมีความรู้สึกเศร้าแล้วหายได้ และไม่ต่อเนื่อง
ทั้งนี้เกณฑ์สำรวจตัวเองทั้ง 9 ข้อนี้ อาจแตกต่างเล็กน้อยหากพิจารณาในกลุ่มเด็ก พญ.รัศมี กล่าวว่าในกลุ่มเด็กมักจะมีพฤติกรรมอื่นที่ต้องคอยสังเกตอยู่เสมอ เช่น หงุดหงิดง่าย ขี้งอแง การไม่ค่อยสุงสิงกับใคร หรือการดูแลตัวเองแย่ลง เช่น ไม่อาบน้ำหรือไม่อยากไปโรงเรียน เป็นต้น
สาเหตุของโรคซึมเศร้า – ร่างกาย สิ่งแวดล้อม สังคม
พญ.รัศมีอธิบายว่า ในทางสุขภาพจิต สาเหตุของโรคซึมเศร้าแบ่งได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก
หนึ่ง ปัจจัยทางชีวภาพ นั่นคือทางสมองและสารสื่อประสาท สารสื่อประสาทในสมองเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ทั้งความสุข ความตื่นเต้นเร้าใจ ความสงสัย ฯลฯ เมื่อเราได้รับการกระตุ้นทางอารมณ์จะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทให้หลั่งสารเหล่านั้นออกมา
สอง ปัจจัยทางจิต และ สาม ปัจจัยทางสังคม สองปัจจัยนี้มักถูกเรียกรวมว่าเป็น ‘จิตสังคม’ เช่น สภาพแวดล้อม ครอบครัว สภาพที่ทำงาน หรือสังคมโดยรวมที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต
การเข้าถึงและการรักษา
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าซึ่งเชื่อมโยงตั้งแต่ร่างกายและจิตใจ จนถึงปัจจัยเชิงสภาพแวดล้อมและสังคม การรักษาโรคซึมเศร้าจึงครอบคลุมตั้งแต่ การส่งเสริมสภาพแวดล้อม ป้องกันไม่ให้เกิดโรค ไปจนถึงการรักษาและบำบัดหากเกิดโรคแล้ว
การรักษาโรคซึมเศร้าจึงเกี่ยวข้องตั้งแต่ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาลที่คอยให้คำปรึกษา จนถึง บุคลากรทางการแพทย์ ตามโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน นั่นคือ จิตแพทย์ หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ตามกลุ่มวัย
วิธีการรักษาโรคจึงมีทั้งการรักษาเชิงบำบัด จิตบำบัด หรือการรับฟังและให้คำปรึกษา จนถึงการรักษาทางชีวภาพด้วยการให้ยาเพื่อรักษาสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง
พญ.รัศมี มองว่า การทานยาเป็นหนึ่งในตัวช่วยในการรักษาโรคซึมเศร้า และควรจะดูแลทั้งสามปัจจัยของโรคซึมเศร้าไปพร้อมกัน
“ยาเป็นเหมือนกับตัวช่วย เหมือนเราว่ายน้ําไปที่ฝั่ง ถ้าต้นเหตุที่แท้จริงถ้าเป็นจากจิตสังคมเป็นตัวกระตุ้น การทานยาไม่ได้ช่วยให้ปัญหาเหล่านั้นคลี่คลาย แต่มันทําให้เราประคองให้เราทำหน้าที่การทํางานหรือการใช้ชีวิตประจําวันได้ปกติ การดูแลอย่างเหมาะสมที่สุดก็จะต้องประกอบด้วยสามอย่าง” พญ.รัศมีกล่าว
คนรอบข้างสำคัญอย่างไร
แม้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าจะมาจากหลายด้าน แต่ พญ.รัศมีมองว่าคนรอบข้างผู้ป่วยเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่จะคอยช่วยเหลือ สังเกตอาการ ถึงช่วยพาผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา
“บางทีผู้ป่วยเองจะไม่รู้ตัวว่าป่วย หรืออยู่ในสถานภาพที่ไม่อยากทําอะไร ถ้ามีคนที่เราสังเกตเห็นว่าเขาเปลี่ยนไป หรือดูเหมือนเรี่ยวแรงในชีวิตลดลง อาจจะลองถามไถ่ ถ้าพบว่ามีอาการเข้าตามเกณฑ์ ก็แนะนําหรือว่าชวนกันพบแพทย์ เพราะบางครั้งผู้ป่วยจะไม่อยากไปคนเดียว”
ในด้านกลับกัน คนรอบข้างที่เป็นคนดูแลหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยซึมเศร้าก็มีความเครียดหรือรับภาระทางอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน ในบางกรณีแพทย์ผู้รักษามีการพูดคุยกับคนรอบข้างผู้ป่วยเพื่อทำความเข้าใจ
และในทางเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมตามบริบทชีวิตก็มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของกันและกัน
“ครู ผู้ปกครองมีความสำคัญและส่งอิทธิพลมากต่อชีวิตของเด็ก เยาวชน จนถึงคนวัยทำงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านายที่มีอิทธิพลมาก ก็ควรจะได้รับการส่งเสริมความรู้ในการดูแลจิตใจตัวเอง และจิตใจคนรอบข้าง”
มองภาพรวมสาธารณสุขไทย
ในประเทศไทย ข้อจำกัดด้านการเข้าถึงการรักษาทางสุขภาพจิตยังมีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็น การขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงการกระจายตัวอย่างทั่วถึง
พญ.รัศมี เผยว่าปัจจุบันในบางโรงพยาบาลอาจต้องรอคิวนานถึง 3-6 เดือน ไปจนถึงการพบปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติด ซึ่งบางครั้งอาจโยงได้ถึงการออกนโยบายที่หละหลวมของภาครัฐ
“นโยบายด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย นอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ทันกาล ทันเวลา และครอบคลุมแล้ว ต้องใส่ใจในเรื่องของการส่งเสริมป้องกันด้วย
“สิ่งนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า กว่าการมานั่งรอรับการรักษาพยาบาล แต่การรักษาพยาบาลก็จําเป็น สิ่งที่อันตรายที่สุดของผู้ป่วยสุขภาพจิตก็คือการจบชีวิตการฆ่าตัวตาย และไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล จิตเภทอื่นๆ รวมทั้งผู้ป่วยสารเสพติด”
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
อ่านต่อ
‘LUNATIQUE’ นิทรรศการศิลปะ จินตนาการ ความงดงามยามราตรี และอิทธิพลครอบงำจากดวงจันทร์
PSU Broadcast Podcast : การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่